'อินโดนีเซีย' เล็งลดเกินดุลสหรัฐ นำเข้าสินค้าเกษตร-พลังงานเพิ่ม

'อินโดนีเซีย' เล็งลดเกินดุลสหรัฐ  นำเข้าสินค้าเกษตร-พลังงานเพิ่ม

รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 'อินโดนีเซีย' เผยแผน ‘ลด’ เกินดุลการค้าสหรัฐ นำเข้าสินค้าเกษตร-น้ำมันและก๊าซเพิ่ม ชี้การค้าสหรัฐไม่กระทบ GDP หนัก

ภายใต้แรงกดดันจากภาษีศุลกากรของ ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ทำให้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งหาทางปรับปรุงดุลการค้ากับสหรัฐและเจรจาต่อรองภาษีนำเข้า

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “ศรีมุลยานี อินทราวาตี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียได้เปิดเผยในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกว่า แผนการในปัจจุบันของอินโดนีเซียคือการ "ลด" หรือแม้กระทั่ง "ยกเลิก" การเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐ 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่อินโดนีเซียถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 32% ในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ทรัมป์ลดอัตราภาษีลงเหลือ 10% และระงับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากบางประเทศและสินค้าบางประเภทเป็นเวลา 90 วัน

อินทราวาตีชี้ว่าปัจจุบัน อินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มเติม เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และข้าวโพด รวมทั้งอาจพิจารณานำเข้าน้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซเหลวจากสหรัฐ เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการพลังงาน

"เราไม่ได้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐ  เพียงประเทศเดียว แต่ยังนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย... เราสามารถพูดคุยกันได้ว่า จะทำอย่างไรให้สหรัฐ ได้เปรียบในการขายสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้กับเรา"

ไตรมาสแรกของปีนี้ อินโดนีเซียเกินดุลการค้าสหรัฐ 4.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.61 พันล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปี 2567 จากยอดการเกินดุลการค้ารวมของอินโดนีเซียในไตรมาสแรกที่ 1.092 หมื่นล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียเกินดุลสหรัฐมากที่สุด    

อินทราวาตีชี้ว่า การค้ากับสหรัฐคิดเป็นเพียง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศ "ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกระทบมากนัก" เนื่องจากการส่งออกทั้งหมดคิดเป็น 20% ของ GDP ของอินโดนีเซีย 

อ้างอิง CNBC