'ทรัมป์' ปราศรัยในมิชิแกน ยกย่องผลงาน 100 วัน เป็น "ชัยชนะทางเศรษฐกิจ"

'ทรัมป์' ปราศรัยในมิชิแกน ยกย่องผลงาน 100 วัน เป็น "ชัยชนะทางเศรษฐกิจ" และกล่าวโจมตีอดีตปธน.ไบเดน รวมถึงประธานเฟด ที่ทำงานได้ไม่ดี
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวยกย่องต่อสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “ชัยชนะทางเศรษฐกิจ” ครั้งสำคัญหลายรายการ และโจมตีพรรคเดโมแครตอย่างรุนแรง รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างปราศรัยในมิชิแกนเมื่อวันอังคาร (29 เม.ย.) ในงานชุมนุมฉลองการดำรงตำแหน่งครบ 100 วันของประธานาธิบดี
งานชุมนุมในรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูง และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐ ถือเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดที่พรรครีพับลิกันเคยจัดมา นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.
“เรามีเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ” ทรัมป์กล่าวถึงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกของตน ตั้งแต่ปี 2017-2021 “เราทำได้ดี และตอนนี้เราก็ทำได้ดีกว่า”
ทรัมป์ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกครั้ง โดยบอกกับฝูงชนที่มาร่วมงานในวอร์เรน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์เทคนิคของเจนเนอรัล มอเตอร์ส และอยู่ห่างจากใจกลางเมืองดีทรอยต์ประมาณ 19 กิโลเมตรว่า ประธานเฟดทำหน้าได้ไม่ดี
ทรัมป์กล่าวด้วยว่า นโยบายภาษีของตน เป็นเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจสำหรับมิชิแกน
“ด้วยการเก็บภาษีจีนของผม เราจะสามารถยุติการขโมยงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกได้” ทรัมป์กล่าวท่ามกลางเสียงเชียร์ “จีนแย่งงานจากเราไปมากกว่าที่ประเทศอื่นที่เคยแย่งมาจากประเทศอื่นอีกที”
ขณะที่ด้านนอกงานชุมชนของทรัมป์ มีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมตามถนนที่พลุกพล่าน ถือธงชาติอเมริกาคว่ำหน้าและชูป้ายที่มีข้อความว่า “ไม่เห็นด้วย”
นอกจากนี้ ก่อนการชุมนุมทรัมป์ยังได้กล่าวที่ฐานทัพแห่งชาติ ในเซลฟริดจ์ ยกย่องการลงทุนด้านกลาโหมของรัฐบาล และยกย่องผลงานนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดแรกของตนเองด้วย
“ผมจะสนับสนุนการลงทุนทุบสถิติ มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการป้องกันประเทศ” ทรัมป์กล่าวต่อหน้าทหารหลายสิบนาย รวมถึงพีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหม และเกร็ตเชน วิทเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกนจากพรรคเดโมแครต และว่าฐานทัพอาจได้รับเครื่องบินรบ F-15X ของโบอิง จำนวน 21 ลำ
ด้านวิทเมอร์ระบุในแถลงการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้ฐานทัพสามารถปกป้องภารกิจ และเป็น “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของทั้งสองฝ่ายในมิชิแกน” ที่จะช่วยรักษาตำแหน่งงาน
ทั้งนี้ งานดังกล่าวคล้ายกับการจัดชุมนุมที่ทรัมป์มักจัดขึ้นตลอดการดำรงอาชีพการเมือง ทั้งในช่วงหาเสียงและหลังการหาเสียง โดยในการปราศรัยประธานาธิบดีได้โจมตี “พวกหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย” และโต้เถียงกับผู้ที่เข้าไปก่อกวนเป็นระยะๆ ทั้งยังถามความคิดเห็นของมวลชนเกี่ยวกับชื่อเล่นไบเดนที่ชอบมากที่สุด แม้ว่าเดโมแครตหมดอำนาจมาแล้วกว่า 3 เดือน
ความกังวลทางเศรษฐกิจ
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันมีท่าทีเย็นชาต่อผลงานในด้านต่างๆ ของทรัมป์ และผู้คนต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจของทรัมป์ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการดำเนินการอย่างแข็งกร้าวของรัฐบาลสหรัฐที่เรียกเก็บภาษีศุลกากรเกือบทุกประเทศในโลก
ผลสำรวจรายการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันไม่มีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของทรัมป์มากขึ้น
โดยผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอส ที่ดำเนินการมาเวลา 3 วัน จนถึงวันอาทิตย์ (27 เม.ย.) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 42% เห็นด้วยกับผลงานของทรัมป์ ในขณะที่ 53% ไม่เห็นด้วย ซึ่งกลุ่มคนที่เห็นด้วยนั้นลดลงจากระดับความพอใจ 47% ของผลสำรวจรอยเตอร์/อิปซอสเมื่อเดือนม.ค. และมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 36% เท่านั้น ที่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในวาระการดำรงตำแหน่งปัจจุบันหรือในวาระก่อนหน้าของทรัมป์
ผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากทรัมป์ได้เปิดฉากสงครามการค้าโลก ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในระดับที่นักเศรษฐศาสตร์ถึงกับต้องเตือนว่า การค้ากับบางประเทศ โดยเฉพาะจีน อาจหยุดชะงักลงได้ และความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ทั้งนักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ ต้องตระหนก
แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ร่วมชุมนุมในมิชิแกนกลับไม่ได้รู้สึกกังวลมากนัก
พอล รักเกอรี คนงานโรงงานเหล็กวัย 65 ปีที่เกษียณอายุแล้ว เผยว่า เขาสนับสนุนนโยบายของทรัมป์ และรับได้กับการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น
“ผมไม่อยากให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เราไม่สามารถเดินต่อไปตามทางที่เรากำลังจะไปได้” รักเกอรีกล่าว และว่าต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลง แม้จะเจ็บปวดสักพัก หรือราคาสินค้าอาจเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยืนยันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่พรรคเดโมแครตมีแผนโจมตีประธานาธิบดีทรัมป์ในวุฒิสภาในวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะนำเสนอภายใต้หัวข้อ “100 วันแห่งความปั่นป่วน” ซึ่งคาดว่าจะมีการอภิปรายจากสมาชิกวุฒิสภาหลายคนจนถึงค่ำ
ส่วนในงานแถลงข่าวช่วงบ่าย สมาชิกดโมแครตได้กล่าวถึงสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาว่าเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” โดยคัดค้านนโยบายของทรัมป์อย่างลับๆ แต่ปฏิเสธที่จะวิจารณ์อย่างตรงๆ
“สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาไม่ได้แค่นิ่งเฉย พวกเขายังสมรู้ร่วมคิดด้วย” ชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภากล่าว
อ้างอิง: Reuters