จับตาทุนไหลออกBRIC กำลังเป็นดาวร่วง
สื่อสหรัฐจับตา 4 ตลาดกลุ่ม"บริคส์"ทั้งบราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนเคยเป็น"ดาวรุ่ง" ตอนนี้กลับกลายเป็น "ดาวร่วง"
ในอดีตเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซิตี้กรุ๊ปสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐ และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) หน่วยงานในเครือธนาคารโลก ได้ริเริ่มโครงการให้เงินทุนอุดหนุน 1.25 พันล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการค้าในตลาดเกิดใหม่รวมทั้ง 4 ชาติได้รับการขนานนามว่า บริค" (BRIC) ซึ่งเป็นชื่อมาจากอักษรตัวแรกของบราซิล (Brazil), รัสเซีย (Russia), อินเดีย (India) และจีน (China) โดยเป็นโครงการอายุ 3 ปี ที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าได้ประมาณ7.5 พันล้านดอลลาร์
โดยซิตี้กรุ๊ปจะให้การสนับสนุนทุน 60% หรือประมาณ 750 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไอเอฟซีและหน่วยงานพัฒนาอื่นๆ จะรับผิดชอบเงินทุนส่วนที่เหลือ และความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นส่วนขยายจากโครงการเสริมสภาพคล่องแก่การค้าโลกภายใต้การนำของธนาคารโลก เพื่อสนับสนุนทุนให้ผู้ส่งออกและนำเข้าในตลาดเกิดใหม่รวมบริค ที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติโลก
ประเด็นข้างต้น เป็นที่รับรู้ในช่วงเดียวกับที่วิกรม บัณฑิต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอของซิตี้กรุ๊ป นำเสนอไอเดียต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจที่สหรัฐ ว่าโลกยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายเรื่องรออยู่ และเสนอว่าโครงสร้างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างเดิมที่คุ้นเคย
เช่นในสหรัฐการออมโดยรวมยังไม่มากพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ขณะที่ผู้บริโภคและภาคการเงินมีการกู้ยืมมากเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดภาพลวงตาเกี่ยวกับผลตอบแทนทางการเงิน การใช้จ่ายและการก่อหนี้ของผู้บริโภคสหรัฐ เคยเป็นหลักผลักดันเศรษฐกิจโลกเติบโตช่วงที่ผ่านมา
แต่สถานการณ์จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมอีก เพราะโลกต้องการแรงขับเคลื่อนใหม่ และรูปแบบธุรกิจใหม่ ภาคธุรกิจต้องค้นหาแรงขับเคลื่อนใหม่ ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าเมื่อ 4 ปีก่อน ตลาดเกิดใหม่รวมบริคเป็นอีกทางเลือกที่ดีช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโต นอกเหนือจากสหรัฐ ที่กำลังประสบปัญหาหนัก เพราะรัฐบาลต้องแบกหนี้ก้อนโต ขณะที่การลดหนี้ประเทศลงแบบฮวบฮาบจะส่งผลเสียต่อการเติบโตของประเทศได้
ศก.บริคแย่ฉุดหุ้นดิ่งหนัก
อย่างไรก็ตามความหวังของซิตี้กรุ๊ปและความพยายามของไอเอฟซี อาจยังไม่ถึงฝั่งฝันหรือบรรลุผลสำเร็จ เพราะเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นมันนี่วิเคราะห์ว่า 4 ตลาดดาวรุ่งที่ได้รับการขนานนามจากโกลด์แมนแซคส์ วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกจากสหรัฐเมื่อ 5 ปีที่แล้วว่าเป็นกลุ่ม "บริค" (BRIC) ต่างกำลังเผชิญกับสภาพตลาดหุ้นได้รับความเจ็บปวดอย่างมากในปีนี้ เพราะผลกระทบที่ได้รับจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีแต่ปัญหามากขึ้น จนกลายเป็นการผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติผละจากตลาด หันไปมองตลาดเพื่อการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนดีกว่า
โดยดัชนีโบเวสปาของบราซิลจนถึงขณะนี้ติดกลุ่มตลาดมีการปรับลดลงมากสุด ติดลบ 21% มูลค่าของตลาดหายไปคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 แล้ว ส่วนดัชนีคอมโพสิตตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีนปรับลดลงถึง 12%แล้ว ส่วนดัชนีไมเซกของรัสเซียลดลง 7% และดัชนีเซนเซกที่ตลาดมุมไบของอินเดียปรับลงมา 1%
ฌอน ดาร์บี้ หัวหน้าฝ่ายการลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดโลกจากเจฟเฟอรีย์ เห็นว่าตลาด 4 ชาติเรียกว่ากลุ่มบริค กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาเหมือนคนมีอาหารไม่ย่อยหรืออาจเป็นอาการมึนเมาเพราะฤทธิ์เหล้า ซึ่งบางครั้งคุณภาพการเติบโตเกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ตามมาหลังจากนั้นไม่ได้ดูดีหรือยิ่งใหญ่ตามไปด้วย
แต่ในทางตรงกันข้าม ซีเอ็นเอ็นมันนี่กลับมองว่า ในเวลาเดียวกันกับที่ 4 ตลาดกลุ่มบริคกำลังมีปัญหา ทั้งสหรัฐ , ญี่ปุ่น และยุโรป ผ่านช่วงเวลายากลำบากไปสู่การฟื้นตัวในหลายระดับอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551
ก่อนหน้านี้ในปี 2552 ดิ อีโคโนมิสต์ นิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษ ได้ตามติดวิเคราะห์เชิงลึก เกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่มบริคว่า เป็นทั้ง "ดาวรุ่ง" ยามเศรษฐกิจเฟื่องฟู และในอนาคตก็เสี่ยงที่จะเป็น "ดาวร่วง" เมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย
โดย จิม โอนีล อดีตผู้บริหารระดับสูงของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นผู้ขนานนามชื่อให้ 4 ตลาดดาวรุ่งว่า "บริค" อาจถูกต้องในการประเมินให้การเติบโตของ 4 ชาติดาวรุ่งนี้ว่าสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของทั้ง 4 ตลาดคิดเป็นประมาณ 20%ของจีดีพีโลก และช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นกลุ่มบริคทำงานผลงานได้ดีเยี่ยม แต่ไม่ใช่ผลงานดีเยี่ยมตลอดไปสำหรับนักลงทุนจากทั่วโลก
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนได้จากดัชนีเอ็มเอสซีไอ บริค ที่รวมเอาบริษัทชั้นนำจากทั้ง 4 ตลาดดาวรุ่งมาไว้รวมกันทั้งหมด นับจากต้นปีนี้จนถึงขณะนี้ดัชนีเอ็มเอสซีไอ บริค ปรับลดลง 14% และตลอด 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีนี้ลดลง 27% อีกทั้งเม็ดเงินที่ไหลออกจาก 4 ตลาดกลุ่มบริคในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ได้ว่านักลงทุนจำนวนมากพากันยอมแพ้ และยอมขนเงินออกจากตลาด 4 ประเทศที่ในอดีตเคยเป็นดาวรุ่งแล้วไปหาตลาดอื่นที่น่าลงทุนให้ผลตอบแทนดีกว่า
ห่วงบริคอีก2ปียังไม่ฟื้น
อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นเอ็นมันนี่ยอมรับว่ามีเหตุผลน้อยมากที่ทำให้นักลงทุนมอง 4 ตลาดกลุ่มบริคในแง่ดี พิจารณาจากความท้าทายมากมายในหลายเรื่องที่เศรษฐกิจ4ประเทศกลุ่มบริคเผชิญอยู่ และจนถึงขณะนี้ดูเหมือนตลาดเกิดใหม่ชาติอื่นๆ ที่อยู่ในทุกมุมโลกกลับมาอยู่ในสถานะดีกว่า สามารถขยายตัวได้เร็วและมากขึ้น
"กลุ่มประเทศได้รับการขนานนามว่าบริค กำลังเผชิญปัญหาทางโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสกัดกั้นไม่ให้ตลาดในประเทศฟื้นตัวได้มากในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่เราจะได้เห็นการพลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างที่พวกเราคาดหวังว่าจะได้เห็นในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่ากลุ่มบริค ซึ่งเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่นอกกลุ่มบริคเหล่านี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนโลกที่สำคัญ"
ซีเอ็นเอ็นมันนี่ระบุว่า การเติบโตของจีน อาจลดลงต่ำกว่า 7.5% ในปีนี้ ในเวลาที่รัฐบาลจีนกำลังมองหาทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้เกิดผลสำเร็จ ส่วนบราซิลได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง และค่าเงินเรียลตกอยู่ใต้แรงกดดัน
ทางด้านรัสเซียกำลังเผชิญสภาพเศรษฐกิจไตรมาส 2 อันเลวร้าย เพราะการลงทุนชะลอตัวและสภาพความต้องการสินค้าส่งออกลดลง ขณะที่อินเดียแม้มีภาวะแวดล้อมทางการเมืองดูยุ่งเหยิงและยากลำบาก และแม้การเติบโตซบเซาเชื่องช้าแต่เศรษฐกิจอินเดียอาจดูแล้วสดใสดีที่สุดใน 4 ประเทศอยู่ในกลุ่มบริค