แบงก์ตะวันตกถูกปรับกว่า4หมื่นล้านดอลลาร์
คณะกรรมการกำกับดูแลของสหรัฐและยุโรปสั่งปรับธนาคารต่างๆ เป็นจำนวนเงินมาก เพื่อสะสางภาคการเงิน
คณะกรรมการกำกับดูแลของสหรัฐและยุโรปสั่งปรับธนาคารต่างๆ เป็นจำนวนเงินมากเป็นประวัติการณ์ปีนี้ โดยเรียกสินไหมทดแทนและการยอมความกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์ หลังทางการประสานงานข้ามประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อสะสางภาคการเงิน
คณะกรรมการกำกับดูแลทั่วโลกทำงานลึกซึ้งกว่าในอดีตในการขุดค้นหาความผิดของธนาคารหลายแห่งทั้งในยุโรปและสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกขายตราสารหนี้จดจำนอง การฮั้วกันกำหนดอัตราดอกเบี้ย และการดำเนินธุรกรรมเสี่ยงๆ เช่น คดี "ลอนดอน เวล" (London Whale) ของเจพี มอร์แกน นำโดยทางการสหรัฐที่ปฏิบัติการเชิงรุกมานาน และเรียกค่าปรับมากกว่าในยุโรป 10 เท่า
จากการประเมินของรอยเตอร์พบว่า ปีนี้ธนาคารจ่ายค่าปรับและค่าใช้จ่ายเพื่อยอมความที่จ่ายให้กับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ นำโดยเจพีมอร์แกนที่จ่ายค่าปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 13,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว ในการสร้างความเข้าใจผิดๆ แก่นักลงทุนกรณีขายตราสารหนี้จดจำนอง
ส่วนทางการยุโรปเรียกค่าปรับมากเป็นประวัติการณ์เช่นกันถึงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องมาจากในเดือนนี้คณะกรรมการต่อต้านการผูกขาดของสหภาพยุโรปสั่งปรับบริษัทการเงินหกแห่ง ในวงเงินสูงสุดที่ไม่เคยมีมาก่อน 2,300 ล้านดอลลาร์ สำหรับการปั่นอัตราดอกเบี้ยยูริบอร์ หรืออัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารในตลาดสหภาพยุโรป และถูกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเหมือนกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน หรือลิบอร์ (Libor)
แนวโน้มสองประการที่ชัดเจนของภาคธนาคารในปี 2556 คือ ประการแรกคณะกรรมการกำกับดูแลพยายามสร้างมาตรฐานโดยสั่งปรับธนาคารที่ทำผิดมากขึ้น ประการที่ 2 คณะกรรมการมีแนวโน้มทำงานร่วมกันดีขึ้น เพราะทุกฝ่ายต้องการได้ส่วนแบ่งจากเงินค่าปรับ