อินเดียเล็งเปลี่ยนเมืองเก่าเป็น "สมาร์ทซิตี้"
รัฐบาลอินเดียวางแผนเปลี่ยนเมืองอัลลาฮาบัด เป็นเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบาย
รัฐบาลอินเดียวางแผนเปลี่ยนเมืองอัลลาฮาบัด จากเมืองประวัติศาสตร์ที่มีประชากรหนาแน่น และ มีสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ เป็นเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบาย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (8 มีค.) ว่ารัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นาเรนธรา โมดี กำลังจะเปลี่ยนภาพของเมืองอัลลาฮาบัด เมืองประวัติศาสตร์ที่มีการตั้งถิ่นฐานบนฝั่งแม่น้ำคงคา ที่ปัจจุบันกลายเป็น
เมืองที่มีประชากรหนาแน่น และ มีความสกปรก ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ "สมาร์ท ซิตี้" ที่มีเทคโนโลยีต่างๆสรางความสะดวกสบาย รักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม และ จัดการจราจรให้ไม่ติดขัด
แผนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีโมดี ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาในการเดินทางเยือนอินเดียครั้งล่าสุดของผู้นำสหรัฐอเมริกา โดยในเอ็มโอยูดังกล่าวระบุว่าโครงการนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ที่จะนำบริษัทเอกชนระดับโลกเข้ามาพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้
อัลลาฮาบัด เป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่มีการกล่าวถึงในบันทึกประวัติศาสตร์ในศาสนาฮินดู ได้รับเลือกให้เป็นเมืองอัจฉริยะในช่วงเริ่มต้นโครงการ ร่วมกับเมืองวิสาขาปัทนัม และ อัมเจอร์ ในรัฐราชาสถาน
โครงการพัฒนาเมืองแห่งนี้รวมไปถึงการสร้างโรงไฟฟ้าที่อาศัยมูลวัวเป็นแหล่งพลังงาน รวมทั้งการนำขยะพลาสติกมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีแผนการติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ ที่บ้านของประชาชนทุกหลังคาเรือน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณสำรองพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้งานสูง หรือ ใช้ในช่วงที่โรงไฟฟ้าไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว ที่มักจะเกิดขึ้นครั้งละ 3-4 ชั่วโมงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้นายกโมดี ประกาศใช้งบประมาณ 70,600 ล้านรูปี ในการพัฒนาเมืองแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มลงมือสร้างสาธารณูปโภคกว่า 100 รายการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการขับเคลื่อน
นอกจากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแล้ว ยังมีการติดตั้งสายเคเบิลไยแก้วนำแสงเพื่อสร้างจุดกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบไว-ไฟ ระบบเก็บขยะแบบบ้านต่อบ้าน เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ที่ใช้ในการรวบรวมขยะ รวมทั้งสร้างโรงงานแปรรูปอาหารเพื่อช่วยเหลือฟาร์มของเกษตรกรที่อยู่โดยรอบเมืองอัลลาฮาบัด