ผลวิจัยชี้พิษดีดีทีเพิ่มความเสี่ยงลูกเป็นมะเร็งเต้านม

ผลวิจัยชี้พิษดีดีทีเพิ่มความเสี่ยงลูกเป็นมะเร็งเต้านม

ผลศึกษาหญิงอเมริกันในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าหญิงที่มียาฆ่าแมลงประเภท “ดีดีที”สะสมในมดลูก เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง4เท่าของคนปกติ

ทีมวิจัยในสหรัฐอเมริกาเผยผลการศึกษาที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 50 ปี ในกลุ่มผู้หญิงที่สัมผัสกับยาฆ่าแมลงประเภท ไดคอลโรไดเฟนิลไทตรคลอโรอีเธน หรือ ดีดีที กับการเป็นมะร็งเต้านม ที่พบว่ายาฆ่าแมลงชนิดนี้ ที่ถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ แต่ยังคงมีใช้กันอย่างกว้างขวางในทวีปแอฟริกาและเอเชียนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ 


บาบารา โคห์น แห่งสถาบันสาธารณสุข ในเมืองเบิร์คเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ร่วมเขียนบทความเผยแพร่ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ กล่าวว่า สารเคมีที่ใช้ในสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม และการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างตลอด 54 ปีที่ผ่านมา เป็นผลงานฉบับแรกยืนยันว่าการที่หญิงตั้งครรภ์สัมผัสกับสารเคมีประเภทนี้ ทำให้ลูกสาวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม

นักวิจัยกลุ่มนี้ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 2503 ที่สัมผัสกับดีดีที ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงเวลานั้น จากกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 20,754 คนที่เป็นสมาชิกของโครงการสุขภาพของกองทุนไคเซอร์ระหว่างปี 2502-2510 โดยในจำนวนนี้มีคุณแม่จำนวน 118 คน ที่มีลูกสาววัย 52 ปีเป็นโรคมะเร็งเต้านม

ในรายงานระบุด้วยว่า ในกรณีที่คุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม และรับสารดีดีทีเข้าไปในร่างกายยิ่งทำให้ลูกสาวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้นอีก 4 เท่าตัว

นอกจากนั้น ยังพบว่าลูกสาวที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมจำนวน 83% ในกลุ่มตัวอย่างมีการตรวจพบเอสโตรเจน รีเซปเตอร์ที่มีเชื้อมะเร็งเต้านมแฝงอยู่ อันเกิดจากการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เนื้อร้ายเติบโตจากแม่ โดยดีดีทีได้ชื่อว่าเป็นสารเคมีที่ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และ ยังเลียนแบบรวมทั้งรบกวนการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน

ก่อนหน้านี้มีการวิจัยอันตรายของดีดีที โดยพบว่าสารชนิดนี้ทำให้อัตราการปฏิสนธิของมนุษย์ลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 อีกด้วย