'เกาะกวม' เป้ายุทธศาสตร์เขย่าสหรัฐ

'เกาะกวม' เป้ายุทธศาสตร์เขย่าสหรัฐ

คำขู่ล่าสุดของเกาหลีเหนือที่พุ่งเป้าโจมตีเกาะกวม ดินแดนในการปกครองของสหรัฐ อาจทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดเกาหลีเหนือถึงเลือกเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญแต่ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐ

จากกรณีการเผชิญหน้าด้วยวาทะดุเดือดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐ เมื่อฝ่ายแรกขู่โจมตีเกาะกวม ดินแดนในอาณัติของสหรัฐที่อยู่ห่างจากคาบสมุทรเกาหลีราว 6,500 กิโลเมตร จึงน่าสนใจว่า ทำไมเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกถึงมีความสำคัญขนาดที่รัฐบาลของนายคิม จอง-อึน ต้องพุ่งเป้าโจมตี

เกาะกวม ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 163,000 คน เป็นเกาะเล็กขนาด 541 ตร.กม. ตั้งระหว่างฟิลิปปินส์และฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เดิมนั้น สเปนอ้างกรรมสิทธิ์ครั้งแรกในปี 2108 และตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐ หลังสเปนพ่ายสงครามจนต้องยกดินแดนบางส่วนของให้สหรัฐในปี 2441 นอกจากกวมแล้วยังมีคิวบา เปอร์โตริโก หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเกาะอื่น ๆ ด้วย

เกาะกวมเปลี่ยนมือผู้ปกครองอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและยึดดินแดน กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง กวมก็กลับมาเป็นของสหรัฐอีกครั้งในปี 2493

เว็บไซต์ดอยเชอเวลเลอรายงานว่า เกาะแห่งนี้มีลักษณะปกครองตนเอง มีการร่างกฎหมายใช้เองและเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ชาวกวมจะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด แต่ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและไม่ต้องจ่ายภาษีให้สหรัฐ

ด้วยความเป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ตั้งอยู่ใกล้เอเชียมากที่สุด สหรัฐจึงเข้ามาตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศบนเกาะกวม โดยสมรภูมิแรก ๆ ที่สหรัฐใช้กวมเป็นฐานสำคัญคือ สงครามเวียดนาม ต่อด้วยสงครามเย็น และเป็นจุดจอดเครื่องบินทิ้งระเบิดระหว่างสงครามเกาหลี

ปัจจุบัน เกาะแห่งนี้มีกำลังพลอยู่ราว 6,000 นาย ขณะที่ฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซนที่ตั้งอยู่บนเกาะกวมยังเป็นโรงจอดเครื่องบินทิ้งระเบิดหลายลำของสหรัฐ รวมไปถึงเป็นอู่เรือดำน้ำบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ให้กับสหรัฐ และท่าเรือสำหรับกองเรือรบสหรัฐ และที่สำคัญ เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซียังระบุว่า ทางการสหรัฐติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ หรือ “ทาด” ไว้ที่เกาะแห่งนี้ด้วย

นอกจากนั้น เกาะกวมยังเป็นหนึ่งในโครงข่ายของกองทัพสหรัฐที่รอบล้อมจีน นอกเหนือจากฐานทัพที่มีอยู่ในชาติพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนสภาพทั่วไปของเกาะกวมนั้น เป็นดินแดนที่ขับเคลื่อนด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมาจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ เกาะกวมจึงถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐนำคลังแสงมาตั้งไว้ใกล้กับเอเชียมากที่สุด การขู่โจมตีเกาะกวมอาจมีลักษณะคล้ายกับแนวคิดของญี่ปุ่นที่พุ่งถล่มอ่าวเพิร์ล ที่เกาะฮาวายของสหรัฐในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2