บทเรียนอันเจ็บปวดจากระบบเตือนภัยสึนามิอินโดฯ

บทเรียนอันเจ็บปวดจากระบบเตือนภัยสึนามิอินโดฯ

ปาลู เป็นเมืองเล็กๆตั้งอยู่บริเวณอ่าวแคบ ๆ บนเกาะสุลาเวสี ถูกคลื่นสึนามิถาโถมเข้าใส่เต็มๆ และคลื่นบางลูกมีความสูงถึง 6 เมตร ทำให้อาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่พังเสียหายยับเยิน

ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในเมืองปาลู เมืองเอกของสุลาเวสีกลาง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 18.03 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันศุกร์ที่ 26 ก.ย.ที่รุนแรงขนาด 7.5 แมกนิจูด และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายสิบครั้ง ถือเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ทางการอินโดนีเซีย ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพราะมีการเตือนภัยสึนามิแค่ 30 นาที ก่อนที่จะถูกยกเลิกไป 

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (บีเอ็มเคจี)ถูกวิจารณ์ว่ายกเลิกประกาศเตือนภัยสึนามิเร็วเกินไป แม้ว่าบีเอ็มเคจี จะชี้แจงว่า คลื่นสึนามิพัดถล่มเกาะขณะที่ยังมีการประกาศเตือนภัยอยู่โดยนางดวิกอริตา การ์นาวาตี ประธานบีเอ็มเคจี ยืนยันว่า ตัดสินใจยกเลิกประกาศเตือนภัย หลังจากสำนักงานได้รับข้อมูลว่าเกิดคลื่นสึนามิแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อมูลจากการสังเกตการณ์ภาคสนามของพนักงานสำนักงานฯที่เมืองปาลู

นอกจากนี้ การประกาศเตือนภัยสึนามิสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 18.37 น. หลังคลื่นยักษ์ลูกที่ 3 พัดถล่มเพียงไม่กี่นาที และหลังจากประกาศเตือนภัยสิ้นสุดลง ก็ไม่มีการเกิดสึนามิอีก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็นจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้คือ แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายสถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือน 170 สถานี สถานีวัดคลื่นแผ่นดินไหว 238 สถานี และอุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเล 137 จุด แต่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบทั้งหมดมีจำกัดมาก 

“อุปกรณ์ของเราในทุกวันนี้มีข้อจำกัดมาก ถึงแม้เราจะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว 170 ตัว แต่มีงบการบำรุงรักษาอุปกรณ์แค่ 70 ตัวเท่านั้น” นายราห์มัต ตรีโยโน หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิของบีเอ็มเคจี เผย