ไทย-ตูนิเซียป้องสิทธิเด็กดีกว่าอังกฤษ-นิวซีแลนด์

ไทย-ตูนิเซียป้องสิทธิเด็กดีกว่าอังกฤษ-นิวซีแลนด์

องค์กรพัฒนาเอกชนของเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่รายงานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าไทย-ตูนีเซียเป็นประเทศที่ดูแลและปกป้องสิทธิเด็กได้อย่างดีสวนทางกับอังกฤษ-นิวซีแลนด์ที่สอบตกด้านดูแลสิทธิเด็กโดยได้คะแนนต่ำกว่าซีเรียและเกาหลีเหนือเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของประเทศ

องค์กรพัฒนาเอกชนเนเธอร์แลนด์ “คิดส์ไรท์ส” เผยแพร่รายงานดัชนีคิดส์ไรท์สประจำปี วานนี้ (14 พ.ค.) สำรวจจาก 181 ประเทศพบว่า นิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักร ครองอันดับต่ำมากที่ 169 และ170 ตามลำดับ สองประเทศนี้มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็กผู้อพยพอย่างเห็นได้ชัด และขาดกฎหมายคุ้มครองเยาวชนผู้ยากจน

นายมาร์ค ดุลเลิร์ต ผู้ก่อตั้งและประธานคิดส์ไรท์ส กล่าวว่า ช่างน่าละอายที่ประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับต่ำสุดของดัชนี

“แน่นอนว่าสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรดีกว่าในอัฟกานิสถานหรือซีเรียมาก แต่ก็พิจารณาตามสถานทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยของประเทศ รวมถึงภาวะที่ไม่มีสงคราม ในฐานะประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยคะแนนที่ได้ว่าด้วยหลักการพื้นฐานตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก ถือว่าได้คะแนนต่ำสุด”

อย่างไรก็ตาม  แม้แต่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วอย่างจีน อินเดีย และเมียนมา ก็สอบตกด้านสิทธิเด็กส่วนประเทศที่ดูแลสิทธิเด็กดีที่สุดคือไอซ์แลนด์ ตามด้วยโปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเยอรมนี แย่ที่สุดคืออัฟกานิสถาน ตามด้วยเซียร์ราลีโอน ชาดอิเควทอเรียลกินี และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

 ประเทศที่อันดับดีอย่างน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับสถานะทางเศรษฐกิจคือไทยและตูนิเซีย ครองอันดับ 14 และ 15ซึ่งนายดุลเลิร์ตอธิบายว่า ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรจำกัด แต่ก็ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับคนรุ่นหน้า สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อสิทธิเด็ก เช่น ร่างกฎหมายใหม่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ อีกทั้งตูนิเซียยังมีอัตราการเกิดในหมู่ผู้ใหญ่ตอนต้นต่ำ

คิดส์ไรท์ส กล่าวด้วยว่า การให้เด็กทั่วโลกได้มีปากมีเสียงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เห็นได้จากขบวนการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว เช่น การเดินขบวนนักเรียนนำโดย น.ส.เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกร้อน หรือการเดินขบวนเรียกร้องควบคุมอาวุธปืนหลังเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนสหรัฐ

เจ้าหญิงลอเรนทีนแห่งเนเธอร์แลนด์ ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิมิสซิงแชปเตอร์ (Missing Chapter Foundation) แต่งตั้งคณะกรรมการด้านเด็กในบริษัท และทรงร่วมงานกับคิดส์ไรท์ส ตรัสว่า โลกยังประเมินพลังของขบวนการเหล่านั้นต่ำเกินไป

“เราจำเป็นต้องขจัดความคิดเก่าๆ ที่เชื่อว่าผู้ใหญ่รู้ดีทุกเรื่องออกไป”เจ้าหญิงลอเรนทีนแห่งเนเธอร์แลนด์ ตรัส

นอกจากนี้  พระองค์ยังทรงเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนกับเด็กเสียแต่ตอนนี้ เพืื่อประโยชน์ที่จะพอกพูนขึ้นในอนาคต โดยทรงตัวอย่างสโมสรฟุตบอลอาแจ็กซ์ ที่ใช้ทีมดาวรุ่งสร้างความฮือฮาให้กับยุโรปด้วยการผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกปีนี้ ที่ทำได้เพราะทีมใช้ยุทธศาสตร์ถูกต้องตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ลงทุนในนักเตะเยาวชน ส่งผลให้ทีมมีนักเตะดาวรุ่งมากมาย

นอกจากนำเสนอรายงานแล้วคิดส์ไรท์สยังมอบรางวัลสันติภาพเด็กนานาชาติประจำปี คนที่เคยได้รางวัล เช่น น.ส.มาลาลา ยูซาฟไซ ที่เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิงเข้าที่ศีรษะเมื่อปี 2555

ทั้งนี้  วิทยาลัยเศรษฐกิจอีราสมุสในรอตเตอร์ดัมเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากสหประชาชาติมาจัดอันดับคิดส์ไรท์สประจำปี โดยดูจากการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของยูเอ็นในแต่ละประเทศโดยแบ่งกลุ่มการให้คะแนน5หัวข้อหลักคือ สิทธิในการมีชีวิต สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการได้รับความคุ้มครอง และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสิทธิเด็ก