‘ส้นสูง’ หนามยอกอก มนุษย์เงินเดือนหญิงญี่ปุ่น

‘ส้นสูง’ หนามยอกอก มนุษย์เงินเดือนหญิงญี่ปุ่น

กลายเป็นประเด็นร้อนในญี่ปุ่น เมื่อชาวเน็ตรณรงค์ติดแฮชแท็ก #KuToo เข้าชื่อกันขอให้ยกเลิกบังคับผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอบโต้แล้วว่า การสวมส้นสูงในที่ทำงานเป็นความจำเป็นและเหมาะสม

ตามที่ยูมิ อิชิคาวะพนักงานบริษัทรับจัดงานศพ วัย 32 ปี เปิดประเด็นบททวิตเตอร์เมื่อเดือน ม.ค.ว่า เธอต้องสวมรองเท้าส้นสูงขนาด 2-3 นิ้วทำงาน ทำให้ปวดเท้ามาก จึงทำแคมเปญ #KuToo มีคนเข้าชื่อ 21,000 คน และกระแสยังโตไม่หยุด คำร้องดังกล่าวถูกส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันจันทร์ (3 มิ.ย.)

#KuToo เป็นการเล่นคำนำเอาคำว่า ‘kutsu’ ที่แปลว่า ‘รองเท้า’ และ ‘kutsuu’ ที่แปลว่า ‘ความเจ็บปวด’ มาผสมกับ #MeToo กระแสรณรงค์ต้านการคุกคามทางเพศที่เริ่มจากชาติตะวันตกก่อนกระจายไปทั่วโลก

สำหรับกระแส#KuTooแม้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งไม่ได้กำหนดชัดเจนให้พนักงานหญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูง แต่หลายคนก็ยังทำเนื่องจากเป็นธรรมเนียม และสังคมคาดหวังเช่นนั้น

เมื่อคำร้องถูกส่งไปยังกระทรวงทาคูมิ เนโมโตะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ก็แถลงตอบข้อซักถามของสภาวานนี้ (6 มิ.ย.) ว่าเหมาะสมแล้ว

“ผมคิดว่านี่อยู่ในวิสัยที่สังคมเห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเหมาะสมที่ต้องทำในที่ทำงาน”

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า การให้พนักงานสวมส้นสูงอาจถูกมองว่าเป็น การใช้อำนาจคุกคามได้ในกรณีที่พนักงานสวมแล้วเกิดการบาดเจ็บ

เมื่อรัฐมนตรีตอบมาแบบนี้ อิชิคาวะ ผู้เปิดประเด็นมองว่า ยิ่งผลักดันให้สังคมสนใจประเด็นนี้มากขึ้น และต้องนำมาถกเถียงกันอย่างจริงจังเสียที

“ดูเหมือนว่าผู้ชายไม่เคยเข้าใจเลยว่า การสวมรองเท้าส้นสูงนั้นทรมานและอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่แม้ไม่ได้บาดเจ็บ ความคาดหวังแบบนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจคุกคาม” อีกทั้งการแสดงความเห็นของเนเมโตะนั้น อาจปลุกให้ผู้หญิงบางคน นำเรื่องนี้มาใช้กับหัวหน้า

“ดิฉันคิดว่า เรามาถูกทางแล้ว”ซึ่งเธอก็น่าจะมาถูกทางจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่ากำลังพิจารณาคำร้อง แต่ไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม

ย้อนกลับไปฟังเสียงโอดครวญของอิชิคาวะ ที่บรรยายไว้ในคำร้องระบุว่ารองเท้าส้นสูงอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาปลาบนนิ้วเท้า แผลพุพอง และปวดหลัง แถมยังเดินเหินลำบาก วิ่งก็ไม่ได้ เจ็บเท้า ยากลำบากสารพัด แต่ผู้ชายไม่ต้องเจอกับความคาดหวังแบบนี้

นอกเหนือจากเสียงตอบรับ 21,000 ชื่อแล้ว สื่อต่างชาติยังให้ความสนใจมากกว่าสื่อญี่ปุ่น ที่มองเป็นปัญหาสุขภาพไม่ใช่ปัญหาความเสมอภาคทางเพศ

“ญี่ปุ่นไม่รู้เรื่องเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ ยังตามหลังประเทศอื่นอยู่มากในแง่นี้” อิชิคาวะเปิดใจกับสำนักข่าวรอยเตอร์

เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จัดอันดับความเสมอภาคทางเพศในบรรดา 149 ประเทศ ปรากฏว่าญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 110 อิชิคาวะจึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศว่า ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติจากเจ้านายอย่างไรบ้าง พวกเขาคาดหวังว่าผู้หญิงต้องทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และต้องทำงานนอกบ้านด้วย

10 ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจญี่ปุ่นถูกขอให้สวมเนคไท แต่ก็ยกเลิกไปตั้งแต่รัฐบาลรณรงค์ให้บริษัทเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศและลดการใช้ไฟฟ้าในปี 2548

“คงจะดีมากเลยค่ะ หากญี่ปุ่นรณรงค์ไม่ต้องใส่ส้นสูงบ้าง”อิชิคาวะเล่าพร้อมเสริมว่า นับตั้งแต่เธอเปิดโครงการเข้าชื่อออนไลน์เธอก็ถูกคุกคามอย่างหนัก ส่วนใหญ่มาจากผู้ชาย

“มีคนถามว่า ทำไมดิฉันต้องทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำไมทำเรื่องแค่นี้ในที่ทำงานไม่ได้ เห็นแก่ตัว นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ใครๆ ก็ทำกัน”

ในอังกฤษ นิโคลา ทอร์ป เคยเปิดให้เข้าชื่อแบบเดียวกันนี้เมื่อปี 2559 หลังจากเธอถูกไล่ออกจากงานเพราะไม่ยอมสวมส้นสูง ส่งผลให้สภาเปิดสอบเรื่องสถานประกอบการอังกฤษกำหนดระเบียบแต่งกายที่เลือกปฏิบัติ แต่รัฐบาลกลับปฏิเสธร่างกฎหมายห้ามบริษัทกำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมส้นสูง

เรื่องนี้สะท้อนว่าแม้แต่ในอังกฤษก็ยังยากขนาดนี้ แล้วในญี่ปุ่นจะยากขนาดไหน ผู้หญิงยังคงต้องต่อสู้กับหนามยอกอกนี้ไปอีกนาน