เปิดมรดก50ปีมนุษย์บนดวงจันทร์
ส่วนความเสี่ยงที่อวกาศจะเต็มไปด้วยขยะ ทันยาเสนอว่าอาจต้องสร้างศูนย์ขยะไว้บนดวงจันทร์ก็ได้
นับตั้งแต่นีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ในวันนี้ (20 ก.ค.) เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ก็ตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ตอนนี้พบวัตถุหลายร้อยชิ้นอยู่เกลื่อนดวงจันทร์ จนผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้ยกสถานะมรดกให้ดวงจันทร์ได้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการที่มนุษย์ขึ้นไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมใดๆ
การสำรวจดวงจันทร์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2502 โดยยานลูนา2 ของสหภาพโซเวียตจากนั้นยานลูนาก็ปฏิบัติภารกิจอีกหลายครั้งตามมา จนถึงคราวของสหรัฐที่ทำโครงการเรนเจอร์และเซอร์เวเยอร์บ้าง
จนกระทั่งวันที่ 20 ก.ค.2512 มนุษย์คนแรกนีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน ก็ได้ไปเหยียบดวงจันทร์
ทั้งคู่ใช้เวลา 22 ชั่วโมงบนทะเลแห่งความสงบ โดยทิ้งทุกสิ่งที่ไม่จำเป็นไว้ที่นั่น ทั้งโมดุลตอนที่ลดระดับลงบนดวงจันทร์ กล้องถ่ายภาพ รองเท้าบูต คีม ของที่ระลึก และเครื่องมือเก็บอุจจาระ 4 ชิ้น
ภารกิจอะพอลโลที่ขึ้นไปดวงจันทร์สำเร็จอีก 5 ครั้งหลังจากนั้น ทิ้งวัตถุเพิ่มเติมอีกหลายร้อยชิ้น
“ฟอร์ ออล มูนไคด์” องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ต้องการอนุรักษ์มรดกมนุษย์ในอวกาศกล่าวว่ามีพื้นที่ราว 100 แห่งบนดวงจันทร์ที่มนุษย์ทิ้งร่องรอยเอาไว้ รวมน้ำหนักแล้วราว 167 ตัน
มิเชล แฮนลอนอาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ผู้ร่วมก่อตั้ง“ฟอร์ ออล มูนไคด์” เผยว่า พื้นที่ทุกจุดบนดวงจันทร์ที่มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ไม่ได้รับการปกป้องแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ แจน วอร์เนอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศยุโรป เคยยิงมุกว่า เขาอยากจะนำธงชาติสหรัฐกลับลงมาเสียด้วยซ้ำ แต่มิเชลมองต่าง
“ร่องรอยรองเท้าบูต เส้นทางยานสำรวจ จุดที่สิ่งของปรากฏอยู่ สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในมุมมองโบราณคดี แต่ไม่มีการคุ้มครองเลย”นักวิชาการกล่าว เธอเกรงว่าวันหนึ่งจุดจอดอะพอลโลจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เหล่านักท่องเที่ยวอาจสร้างความเสียหายได้สูงมาก ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศมาดูแลการป้องกันการสร้างความเสียหายไม่ว่าจะเจตนาหรือพลั้งเผลอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซา) เคยมีข้อแนะนำ เช่น การสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตไม่ควรจอดใกล้จุดอะพอลโลภายในรัศมี 2 กิโลเมตร
สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐก็เคยเสนอร่างกฎหมาย “หนึ่งก้าวเล็กๆ เพื่อปกป้องมรดกมนุษย์ในอวกาศ” แต่สนธิสัญญาอวกาศปี 2510 กำหนดไว้ชัดเจนมากว่าห้วงอวกาศรวมถึงดวงจันทร์และวัตถุอื่นๆ บนท้องฟ้า ไม่ใช่ที่ที่ชาติใดจะมาอ้างอธิปไตยด้วยการใช้ประโยชน์ ยึดครอง หรือใช้วิธีอื่นๆ ได้
“เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มกั้นเขตเฉพาะแล้วห้ามไม่ให้ประเทศอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์หรือสำรวจอวกาศได้อย่างเสรี เมื่อนั้นคุณกำลังดำเนินการขัดกับหลักการสนธิสัญญาอวกาศ”แจ็ค เบียร์ดอาจารย์ด้านกฎหมายอวกาศจากมหาวิทยาลัยเนแบรสกาอธิบายเพิ่มเติม
เพื่อความมั่นใจ สนธิสัญญาระบุชัดว่าแต่ละประเทศต้องลงทะเบียนวัตถุอวกาศทุกชิ้นเพื่อป้องกันพฤติกรรมมักง่ายไร้ความรับผิดชอบของบริษัทเอกชน
ข้าวของเหล่านี้ยังคงเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานที่ส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์ เท่ากับว่าใครจะมาขโมยมิได้ อย่างไรก็ตามเหล่าทนายความ หน่วยงานอวกาศ และสหประชาชาติก็ยังกังวลเรื่องช่องว่างของข้อกฎหมาย นอกเหนือจากห่วงเรื่องการอนุรักษ์มรดกแห่งมนุษยชาติ
ช่วงไม่กี่สิบปีหลังจากนี้มีแนวโน้มว่าการเดินทางไปดวงจันทร์จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหลักการกว้างๆ ว่าด้วยความร่วมมือที่กำหนดไว้ตามสนธิสัญญาน่าจะไม่พอควบคุมได้
เฉพาะปี 2562 ปีเดียว หุ่นยนต์จีนไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ขณะที่ยานสำรวจเอกชนอิสราเอลตกกระแทกพื้น ส่วนอินเดียก็จะส่งยานของตนไปในวันจันทร์นี้ (22 ก.ค.)
ในปี 2567 นักบินอวกาศสหรัฐมีกำหนดเดินทางไปขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่มีแต่น้ำแข็ง สตาร์ทอัพด้านอวกาศหลายร้อยแห่งก็พัฒนาโครงการ จำนวนมากต้องการขึ้นไปสำรวจน้ำและแร่ธาตุบนดวงจันทร์และดาวเคราะห์น้อย อะไรจะเกิดขึ้นหากบริษัทเหล่านี้ทะเลาะกันเอง
“โอกาสที่จะขัดแย้งกันมีสูงมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบป้องกันไม่ให้ดวงจันทร์กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน”ทันยา แมสสันอาจารย์ด้านกฎหมายอวกาศ มหาวิทยาลัยไลเดนในเนเธอร์แลนด์แสดงทัศนะพร้อมแนะว่าควรตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมากระจายสิทธิก่อนหลัง โดยไม่ต้องให้อำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับการจัดการวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้า