“ลี เซียน หลุง”ชี้ประท้วงฮ่องกงไม่ดีต่อสิงคโปร์
“ลี เซียน หลุง”เปิดใจประท้วงฮ่องกงไม่ดีต่อสิงคโปร์ ยืนยันฮ่องกงมีเสถียรภาพการเมืองและการเงินแกร่งส่งผลดีต่อสิงคโปร์มากกว่า
ลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ในโอกาสร่วมสัมนาจัดโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในสิงคโปร์ ระบุว่า การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง จนทำให้สถานการณ์การเมืองในฮ่องกงไม่มีเสถียรภาพเป็นเรื่องที่เลวร้ายต่อสิงคโปร์และส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม และสถานการณ์ในฮ่องกงขณะนี้ถือว่า“วิกฤติ”เพราะมีความแตกแยกกันอย่างมากในสังคมและทัศนคติของประชาชน
ฮ่องกง และสิงคโปร์ มักถูกเปรียบเทียบในหลายๆด้าน ไล่ตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระดับภูมิภาค และการมีมาตรฐานด้านการศึกษาสูงที่สุดในภูมิภาค แต่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ มีความเห็นว่า การที่ฮ่องกงมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและการเมืองมีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อสิงคโปร์มากกว่าสถานการณ์เลวร้ายที่ฮ่องกงกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
“เราร่วมมือกับฮ่องกง ขณะเดียวกัน เราก็แข่งขันกับฮ่องกง ฮ่องกงทำธุรกิจกับเราและเราก็ทำธุรกิจกับฮ่องกงและกับจีน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในฮ่องกง ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคและการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆทั่วทั้งภูมิภาค”นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การประท้วงในฮ่องกง ทำให้บรรดานักลงทุนโยกเงินลงทุนออกจากฮ่องกงเข้าไปไว้ที่สิงคโปร์ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการเงินอีกแห่งของเอเชีย โดยนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ บอกว่า มีเงินไหลออกจากฮ่องกงมากถึง 4,000 ล้านดอลลาร์เพราะการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ
กูร์พรีท ซิง ซาฮี และเหยิง เซียง กั๊วะ 2นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า มีเงินไหลออกจากฮ่องกงช่วง 3เดือนล่าสุดมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งในช่วงเดือนส.ค. ยอดเงินฝากสกุลเงินท้องถิ่นของฮ่องกงลดลงประมาณ 1.6% ถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบปีนี้ ตอกย้ำผลกระทบจากการชุมนุประท้วงที่มีต่อตลาดเงิน
รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดกระแสเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง และการชุมนุมประท้วงยังทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะผันผวนครั้งใหญ่ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ร่วงลงมาแล้ว 17.9%
ขณะนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุนต่างชาติบางราย เริ่มประเมินผลกระทบและวางแผนเตรียมย้ายบริษัทไปสิงคโปร์ หากได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า สิงคโปร์ มีประสิทธิภาพในการพิจารณาคดี และรัฐบาลมีความซื่อตรงมากกว่า เมื่อเทียบกับฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่บริษัทต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการลงทุนของลูกค้า
บรรดานักวิเคราะห์ในฮ่องกง กังวลว่า การประท้วงต่อต้านจะลากยาวไปอีกหลายปี เพราะคณะกรรมการบริหารสูงสุดในฮ่องกง ควบคุมปัญหาเพียงระงับการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน และไม่มีคำมั่นว่าจะถอดถอนตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งผู้นำยังไม่มีท่าทีจะยอมลงจากตำแหน่งง่าย ๆ
นอกจากนี้ ความกังวลในฮ่องกงยังครอบคลุมไปถึงเรื่องข้อตกลงระหว่างจีนกับอังกฤษภายใต้กรอบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” โดยจีนให้อังกฤษเช่าพื้นที่ส่วนเหลือของเกาะฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี เรียกว่าเป็นเขตดินแดนใหม่ (new territories) โดยจะหมดสัญญาในปี 2047
ปัจจัยที่สร้างความวิตกเหล่านี้ ไม่ได้เกิดแค่กลุ่มธุรกิจการเงิน แต่ภาคธุรกิจอื่นก็เริ่มสั่นคลอนจากสถานะของฮ่องกงที่จะตกไปเป็นของจีนแบบ 100%
ที่ผ่านมา ฮ่องกงถูกจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางการเงินและการลงทุนที่มีการค้าอย่างเสรี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ แต่ช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกง ได้สูญเสียตำแหน่งดังกล่าวให้กับสิงคโปร์ไป
แบบสำรวจจากเทรด พับลิเคชัน เอเชียน ไพรเวท แบงเกอร์ ระบุว่า 58%ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นศูนย์กลางของการจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เนื่องจากกฎระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆ ของสิงคโปร์นั้นเอื้ออำนวยกว่า และยังมีความเกี่ยวโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่น้อยกว่าฮ่องกง ทั้งในเรื่องการเมืองและการเงินรวมไปถึงข้อบังคับต่างด้วยเช่นกัน
ขณะที่นักวิเคราะห์ทางการเงินบางราย กล่าวว่า หากสถานการณ์ในฮ่องกงยังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ สิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากนักลงทุนฮ่องกงและผู้ที่ต้องการย้ายทรัพย์สินออกจากฮ่องกง
ทั้งนี้ ฮ่องกง เป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี2540 และจะยังคงสถานะ 1 ประเทศ 2 ระบบ ไปอีก 50 ปี ตามข้อตกลงระหว่างจีนและอังกฤษที่ทำขึ้นในช่วงทศวรรษ 2513 จนถึงปี 2590
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เศรษฐีฮ่องกงแห่ซื้ออสังหาฯต่างแดนแลกสิทธิพลเมือง
-“สี จิ้นผิง”ส่งสัญญาณให้อำนาจปกครองตนเองแก่ฮ่องกงเพิ่ม
-'เทรดวอร์-ฮ่องกง' บทพิสูจน์จีน
-ส่องผลกระทบธุรกิจจากม็อบฮ่องกง