‘นารุฮิโตะ-มาซาโกะ’ คู่บัลลังก์เบญจมาศ
ทรงเริ่มต้นรัชสมัยด้วยพระราชกิจอันละเอียดอ่อน นั่นคือการสร้างสมดุลระหว่างความทันสมัยกับโบราณราชประเพณีแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น
ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของประเทศญี่ปุ่น แม้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติเป็นพระองค์แรกในรอบกว่า 200 ปี แต่ประชาชนมีเวลาทำใจเพราะทราบข่าวนี้ล่วงหน้ามานานนับปี ทั้งยังได้ข่าวดีมาช่วยชุบชูใจ เมื่อมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะสืบทอดราชบัลลังก์แทน
ภารกิจแห่งราชบัลลังก์เป็นภารกิจที่หนักหน่วง สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะผู้เพิ่งทรงผ่านพ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ทรงเริ่มต้นรัชสมัยด้วยพระราชกิจอันละเอียดอ่อน นั่นคือการสร้างสมดุลระหว่างความทันสมัยกับโบราณราชประเพณีแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดในโลก และหนึี่งในพระราชภารกิจคือการปกป้องครอบครัวของพระองค์ให้พ้นจากระเบียบราชสำนักอันเข้มงวด
สมเด็จพระจักรพรรดิ พระชนมายุ 59 พรรษาพระองค์นี้ ไม่ทรงเหนียมอายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิถีชีวิตอันน่าอึดอัดที่เชื้อพระวงศ์ทรงต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะสิ่งที่พระมเหสี “มาซาโกะ” ทรงเผชิญขณะทรงปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตในวัง สมัยเมื่อดำรงพระยศเป็นพระชายาในมกุฎราชกุมารก่อนดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินี
สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2503 เป็นเจ้าชายญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ทรงเติบโตขึ้นมาภายใต้ชายคาเดียวกับสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระราชมารดา และพระอนุชา พระกนิษฐา แตกต่างจากเจ้าชายในอดีตที่ทรงถูกแยกไปให้พระพี่เลี้ยงและพระอาจารย์เลี้ยงดู
หลังจากจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในญี่ปุ่น ทรงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นเวลา 2 ปีในช่วงทศวรรษ 80 มีรายงานว่าพระองค์ทรงตกแต่งที่พักด้วยโปสเตอร์ “บรู๊ค ชิลด์ส” นักแสดงอเมริกัน
ชีวิตในอังกฤษ พระองค์ทรงสามารถหลบเลี่ยงวิถีราชวงศ์อันเข้มงวดแบบญี่ปุ่นได้บ้าง ได้ทรงใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ รวมทั้งราชวงศ์อังกฤษ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะมักตรัสอย่างมีความสุขถึงชีวิตในช่วงนั้น
พระองค์อภิเษกสมรสกับมาซาโกะ โอวาดะ ในปี 2536 ปัจจุบันทรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระจักรพรรดินี” เมื่อพระราชสวามีทรงครองบัลลังก์ดอกเบญจมาศ
สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะทรงพระราชสมภพในครอบครัวนักการทูตทรงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ด ระหว่างทำหน้าที่เป็นนักการทูตอนาคตไกล พระองค์สละหน้าที่การงานเข้าพิธีอภิเษกสมรสมาเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์
เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) ทรงให้คำมั่นว่า จะปกป้องพระชายาทุกวิถีทางในช่วงที่ทรงปรับตัว และเจ้าหญิงมาซาโกะ (พระยศในขณะนั้น) เองทรงชี้แจงว่า พระองค์ทรงยอมสละอาชีพนักการทูตเพื่อสร้างประโยชน์บนเส้นทางใหม่
การปรับพระองค์เข้ากับชีวิตราชวงศ์ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก พระองค์ต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นครั้งคราว การปรากฏพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนถูกกำหนดไว้อย่างเข้มงวด
นอกจากนี้สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะยังทรงถูกกดดันให้ทรงมีพระราชโอรส เนื่องจากราชวงศ์ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสืบทอดราชบัลลังก์ หลังพระองค์ทรงให้กำเนิดเจ้าหญิงไอโกะ ในปี 2544 สังคมยิ่งจับจ้องอย่างหนัก สุดท้ายแล้วสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ทรงมีเจ้าหญิงไอโกะเป็นพระทายาทเพียงองค์เดียวเท่านั้น
ปี 2547 สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงมีพระราชดำรัสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทรงวิจารณ์ข้าราชบริพาร ที่เข้มงวดกับชีวิตส่วนพระองค์ของพระชายา
พระองค์ทรงอธิบายว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะทรงเจ็บปวดจากข้อห้ามเดินทางไปต่างประเทศ สวนทางกับชีวิตนักการทูตที่เคยมีมาก่อน
ในปีเดียวกันสำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะทรงเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเครียดจากภาวะการปรับพระองค์ผิดปกติเกือบตลอดช่วงชีวิตสมรส
ต่อมาสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงขอโทษต่อสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสออกไป แต่ทรงเรียกร้องให้พระราชกรณียกิจของราชวงศ์ยุคใหม่สอดคล้องกับยุคสมัย
แรงกดดันที่มีต่อเจ้าหญิงมาซาโกะลดลงไปเมื่อพระชายาในเจ้าชายอากิชิโนะ พระอนุชาของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงให้กำเนิดพระโอรสในปี 2549 ขณะนี้เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเจริญชันษา 13 ปี
ครั้นเมื่อดำรงพระอิสริยยศใหม่ สมเด็จพระจักพรรดินีมาซาโกะทรงแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในพระราชพิธีสืบราชบัลลังก์ของพระสวามีเมื่อเดือน พ.ค.และทรงผ่อนคลายเมื่อทั้งสองพระองค์ทรงต้อนรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระปรีชาสามารถรับสั่งกับเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐด้วยภาษาอังกฤษอันเยี่ยมยอด ได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างยิ่ง
อีกพระราชภารกิจหนึ่งที่ชวนติดตามคือสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระราชบิดาอากิฮิโตะ ทรงเตือนความจำถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ให้ลืมเลือนระบอบทหารที่ญี่ปุ่นเคยใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ก่อนทรงราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงดำเนินตามรอยสมเด็จพระราชบิดา ทรงวิจารณ์พวกลัทธิแก้เรื่องบทบาทญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยทรงมีพระราชดำรัสที่บางคนมองว่า เป็นการตำหนิแนวคิดชาตินิยมของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ
พระราชดำรัสแรกในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ ในวาระรำลึกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือน ส.ค. ทรงตรัสในท่วงทำนองเดียวกับสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวงอากิฮิโตะ ว่าทรงเสียพระทัยอย่างสุดซึ้งกับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม
คาดกันว่า นับจากนี้สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้ปลอบขวัญพสกนิกร อย่างที่สมเด็จพระจักพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงปฏิบัติมาแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้รับเสียงแซ่ซร้องสรรเสริญจากการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง
สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ ทรงรู้สึกเจ็บปวดพระราชหฤทัยต่อเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสถล่มญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันก่อน ประชาชนต้องสังเวยชีิวิตกว่า 70 คน คาดกันว่าเมืื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้น ทั้งสองพระองค์อาจเสด็จเยี่ยมเหยื่อพายุ
คาดกันว่า นับจากนี้สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้ปลอบขวัญพสกนิกร อย่างที่สมเด็จพระจักพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงปฏิบัติมาแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้รับเสียงแซ่ซร้องสรรเสริญจากการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง
สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ ทรงรู้สึกเจ็บปวดพระราชหฤทัยต่อเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสถล่มญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันก่อน ประชาชนต้องสังเวยชีวิตกว่า 70 คน คาดกันว่าเมืื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้น ทั้งสองพระองค์อาจเสด็จเยี่ยมเหยื่อพายุ
อย่างไรก็ตาม ฮิเดยะ คาวานิชิ อาจารย์มหาวิทยาลัยนาโงยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเผยว่า ด้วยพระพลานามัยอันบอบบางของสมเด็จพระจักรพรรดินี ทำให้ทั้งสองพระองค์อาจไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้มากเท่ากับรัชกาลก่อน
หากจำกันได้พระราชดำรัสเนื่องในวันพระราชสมภพเมื่อเดือน ธ.ค.2561 สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะทรงให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างดีที่สุด แม้ยังไม่ค่อยมั่นพระทัยเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระจักรพรรดินี แต่กำลังพระทัยอันทรงพลังจากพสกนิกรช่วยให้พระองค์ทรงค่อยๆ มั่นพระทัยมากขึ้น กระนั้น คณะแพทย์ยังเตือนว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีจำเป็นต้องทรงรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และพระองค์ทรงอ่อนเพลียได้ง่าย
ถึงวันนี้แม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านไปแล้ว ราชสำนักญี่ปุ่นยังมีโจทย์ใหญ่ให้ต้องแก้ในโลกยุคใหม่ นั่นคือพระราชบัลลังก์สืบทอดโดยผู้ชายเท่านั้น ในเมื่อสมเด็จพระจักพรรดินารุฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ทรงมีพระราชธิดาเพียงองค์เดียว เท่ากับว่าเจ้าหญิงน้อยทรงหมดสิทธิในราชบัลลังก์ รัชทายาทอันดับ 1 คือเจ้าชายอากิชิโนะ พระอนุชา ลำดับถัดไปคือพระโอรส “เจ้าชายฮิซาฮิโตะ”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่กี่เดือนหลังจากพระปิตุลาทรงราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เจ้าชายน้อยก็เสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก เสด็จไปภูฏานเมื่อเดือน ส.ค. หลายคนมองว่า นี่คือการเปิดตัวว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดิต่อโลกภายนอก
เจ้าชายน้อยทรงฉลองพระองค์กิโมโนฮากามะ ทรงยิงธนู สร้างความประทับใจให้กับเจ้าภาพและทุกคนที่พบเห็น การเสด็จเยือนครั้งนี้ถือเป็นการพบปะสาธารณชนอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก สำหรับเด็กชายผู้แบกรับอนาคตของราชวงศ์ทั้งหมดไว้เต็มสองบ่า
บัลลังก์ญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้น และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสืบสันตติวงศ์ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ
เจ้าชาฮิซาฮิโตะ พระชันษา 13 ปี โอรสของมกุฎราชกุมารอากิชิโนะ พระชนมายุ 53 พรรษา จึงเป็นราชวงศ์ชายเพียงพระองค์เดียวในรุ่นนี้
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาซาฮีเคยนำเสนอประเด็นนี้ไว้ในปีนี้
“ภายใต้กฎมณเฑียรบาลปัจจุบันว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ เจ้าชายฮิซาฮิโตะจะค่อยๆ ทรงแบกภาระในการสืบทอดราชวงศ์อิมพิเรียลให้ยืนยาว แรงกดดันต่อพระองค์สุดท้ายแล้วจะหนักหนาสากรรจ์เกินกว่าที่คิด”
การประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะเมื่อปี 2549 ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในสายตาชาวญี่ปุ่นสายอนุรักษนิยม ที่ต้องการคงการสืบทอดบัลลังก์โดยผู้ชายเอาไว้ แต่ทุกสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง ประเทศที่รอบคอบละเอียดอ่อนอย่างญี่ปุ่นคงไม่ปล่อยให้สถานการณ์ยากลำบากนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีแผนการรับมือเป็นแน่
(แปลและเรียบเรียงจาก เอเอฟพี,รอยเตอร์ / ภาพจากเอเอฟพี)