‘มาเซราติ’ รถแบรนด์หรูก็เจ็บเป็น
“มาเซราติ” แบรนด์รถระดับโลกมีชื่อเป็นข่าวใหญ่ในสังคมไทยเมื่อไม่นานนี้ แม้รูปลักษณ์ภายนอกและชื่อเสียงจัดว่าเป็น “รถหรูระดับพรีเมียม” แต่รู้หรือไม่ว่า รถแบรนด์นี้กำลัง "เจ็บหนัก" จากภาวะขาลงในตลาดยานยนต์โลก
รถแบรนด์สัญชาติอิตาลีนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมานาน ด้วยตราโลโก้ตรีศูลหรือสามง่ามอันโดดเด่นของเทพเจ้ากรีซ “โพไซดอน” แต่ในประเทศไทยยังมีรถมาเซราติวิ่งบนท้องถนนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นรถตลาดนิชที่บางรุ่นมีราคาสูงถึงกว่า 10 ล้านบาท และมียอดขายหลักสิบคันต่อปีเท่านั้น
อันที่จริง ธุรกิจของมาเซราติถือกำเนิดขึ้นกว่า 100 ปีแล้ว มีการก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2457 ในเมืองโบโลญญา โดยพี่น้องตระกูลมาเซราติ นามว่า “อัลฟิเอรี” “บินโด” “คาร์โล” “เออร์เนสโต” และ “เอตโตเร” ที่ต่างมีความฝันและความสนใจที่จะสร้างเครื่องยนต์ที่เป็นเลิศด้านความเร็ว เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขันรถยนต์
ขณะที่โลโก้ตรีศูลนั้นออกแบบโดย “มาริโอ” หนึ่งในพี่น้องมาเซราติเช่นกัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากน้ำพุแห่งเนปจูน ซึ่งเป็นรูปปั้นสัญลักษณ์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโบโลญญา
พี่น้องมาเซราติใช้เวลาในการพัฒนารถแข่งอยู่นับสิบปี จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 40 พวกเขาได้ออกแบบรถนั่งส่วนบุคคลรุ่นแรกคือ “แกรน ทัวริสโม” และจากนั้นก็ขายกิจการให้กับบริษัทอื่นและเปลี่ยนเจ้าของไปหลายราย
- จากซีตรองสู่อ้อมอกเฟียต
ปี 2511 "ซีตรอง" กลุ่มยานยนต์ของฝรั่งเศสได้เข้าซื้อกิจการของมาเซราติ จนกระทั่งในปี 2536 "เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์" (เอฟซีเอ) ผู้ผลิตรถสัญชาติอิตาลี-สหรัฐซึ่งบริหารแบรนด์ “เฟอร์รารี” ได้ซื้อกิจการมาเซราติไปบริหารต่อ
ต่อมาในปี 2540 เอฟซีเอได้ขายหุ้น 50% ในมาเซราติให้กับเฟอร์รารี ซึ่งแม้จะเป็นคู่ปรับกันเองภายใต้ชายคาเดียวกัน แต่ค่ายรถม้าลำพองก็ทำให้แบรนด์ของมาเซราติไม่อันตรธานไปจากตลาดรถยนต์โลก และมีการร่วมมือพัฒนารุ่นรถยนต์กับรถสปอร์ตอย่าง “อัลฟา โรเมโอ” ด้วย
ปัจจุบัน โรงงานผลิตและสำนักงานใหญ่ของมาเซราติตั้งอยู่ในเมืองโมเดนาของอิตาลี และยังมีโรงงานแห่งที่ 2 ในอิตาลีอยู่ที่ย่านกรูยาสโก นครตูริน ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
ในขณะที่แบรนด์มาเซราติเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความหรูหราระดับพรีเมียมที่ผสมทั้งนวัตกรรม ความเป็นเลิศ และความท้าทาย จึงทำให้รถสัญชาติอิตาลีเป็นมากกว่ายานพาหนะที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนในสายตาของหลายคน แต่ใครจะรู้ว่า ตอนนี้มาเซราติกำลังประสบปัญหาหนักจากผลประกอบการที่ย่ำแย่และกว่าจะฟื้นอาจต้องรอถึงปีหน้า
- ขาดทุน 4 พันล้านไตรมาสเดียว
เดือน ส.ค. มาเซราติรายงานผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปีนี้ ปรากฏว่าขาดทุน 119 ล้านยูโร หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการลดการผลิตรถเพื่อลดจำนวนรถค้างสต็อกลง 3,000 คัน โดยหั่นยอดส่งรถมาเซราติให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกลง 46% เหลือ 4,200 คันในไตรมาสดังกล่าว
ขณะที่ยอดขายรวมลดลงถึง 17% เหลือเพียง 7,200 คันทั่วโลกในไตรมาสเดียวกัน แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่ไม่แย่นักเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่ร่วงถึง 32% และยังเป็นตัวเลขที่ลดลงน้อยที่สุดในรอบ 10 ไตรมาสหลัง
ไมค์ แมนลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเอฟซีเอ บอกว่า ตัวเลขยอดขายในไตรมาส 2 ถือว่า “น่าผิดหวัง” และคาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 มาเซราติจะยังประสบความยากลำบากต่อไป ก่อนจะฟื้นกลับมาอีกครั้งในปีหน้า
ขณะที่ ริชาร์ด พาล์มเมอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บริษัทแม่มาเซราติ บอกว่า บริษัทจะลดจำนวนรถค้างสต็อกต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
เหตุที่ผู้บริหารเอฟซีเอคาดว่ามาเซราติจะฟื้นกลับมาได้ในปีหน้า เพราะบริษัทมีแผนที่จะเริ่มกลยุทธ์เปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างจริงจังในปี 2563 รวมถึงรถมาเซราติรุ่นใหม่หรือรุ่นปรับปรุงใหม่รวม 10 รุ่น ระหว่างปี 2563-2566
ส่วนภาพรวมยอดขายมาเซราติช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 13,500 คันทั่วโลก น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 25%
- ตั้งเป้าสูงเกินความเป็นไปได้
เดือน มิ.ย. 2561 มาเซราติตั้งเป้าหมายใหม่ว่า ยอดขายรายปีจะต้องแตะ 100,000 คัน และมีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 15% ภายในปี 2565 แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าเป็นการคาดหวังที่ไม่อิงกับความเป็นจริงเมื่อดูจากยอดขายในอดีต
ในปี 2561 มาเซราติเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมาก โดยยอดขายรวมลดลงถึง 21% จากปี 2560 เหลือเพียง 36,500 คันใน 62 ตลาดทั่วโลก ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 เมื่อครั้งที่แบรนด์รถหรูอิตาลีมียอดขายเพียง 29,000 คัน และยังห่างไกลมากจากเป้าหมายสำหรับปี 2561
ปี 2557 แซร์จิโอ มาร์คิออนเน อดีตซีอีโอผู้ล่วงลับของเอฟซีเอ เคยประกาศว่า ภายในปี 2561 มาเซราติจะมียอดขายทั่วโลก 75,000 คันต่อปี
- เปิดตัวรถใหม่ "ไม่ต่อเนื่อง"
สาเหตุหลักของยอดขายที่ลดลงนี้ เกิดจากความล้มเหลวในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้ซื้อรถเอสยูวีรุ่น “เลอวานเต” ประกอบกับความท้าทายต่าง ๆ ในตลาดจีน
นอกจากนั้น แบรนด์มาเซราติไม่ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่นานถึง 3 ปีแล้ว ดังนั้น ความสนใจของผู้บริโภคที่เคยล้นหลามช่วงเปิดตัวรถรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง “ควอตโตรปอร์เต” ในปี 2555 รุ่น “กิบลี” ในปี 2556 และรุ่น “เลอวานเต” ในปี 2559 จึงแทบไม่หลงเหลือถึงปัจจุบัน เพราะไม่มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า แบรนด์รถหรูระดับพรีเมียมอย่างมาเซราติ จะเว้นวรรคเปิดตัวรถรุ่นใหม่นานไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จของแบรนด์รถเยอรมัน และ “วอลโว่” คือการเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างไม่ขาดสาย
นอกจากไม่มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่แล้ว มาเซราติยังต้องจัดการปัญหาจากการให้ความสำคัญกับเซ็กเมนท์ที่มียอดขายชะลอด้วย
ในขณะที่แบรนด์คู่แข่งต่างเร่งผลิตรถเอสยูวีของตัวเองอย่างแข็งขัน แบรนด์หรูอิตาลีกลับมุ่งมั่นอยู่กับรถซีดานรุ่นกิบลีและควอตโตรปอร์เต ซึ่งปัจจุบัน ในตลาดก็มีรถซีดานระดับพรีเมียมที่ทรงแจ่มที่สุดอยู่แล้ว ปัญหาคือขณะนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้มองหารถแบบนี้อีกต่อไป
นอกจากนั้น การมาของเลอวานเตก็ถือช้ากว่าคู่แข่งหลายช่วงตัว มาเซราติเปิดตัวรถเลอวานเตในงานมอเตอร์โชว์ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2559 ขณะที่รถสไตล์คล้ายกันอย่าง “ปอร์เช่ คาเยนน์” อยู่ในตลาดมานาน 14 ปีแล้ว!
นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่มาเซราติเปิดตัวรถรุ่นใหม่ทั้งคัน (ออลนิว) และตราบใดที่ยังไม่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ให้ผู้บริโภคได้เชยชม มาเซราติก็คงต้องพบกับยอดขายติดลบต่อไป