“ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่”เกมต่อรองที่ไร้แต้มต่อของ"จอห์นสัน"

“ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่”เกมต่อรองที่ไร้แต้มต่อของ"จอห์นสัน"

การเลือกยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่กำลังปวดหัวกับกรณีเบร็กซิทถือเป็นเกมการต่อรองทางการเมืองที่หลายคนมองว่าไม่น่าจะได้ผล

จอห์นสัน ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (24ต.ค.)ว่า จะให้เวลามากขึ้นแก่สมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) จากเดิมที่รัฐบาลให้เวลาเพียง 3 วัน แต่รัฐสภาจะต้องให้การอนุมัติต่อญัตติของรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 12 ธ.ค. หากสภาให้การอนุมัติต่อญัตติดังกล่าว เขาก็จะประกาศยุบสภาในวันที่ 6 พ.ย.นี้

คำพูดของจอห์นสันมีขึ้นในช่วงที่สื่อรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษ เตรียมดำเนินการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยจะยื่นญัตติในรัฐสภาเพื่อให้มีการอภิปรายในสัปดาห์หน้า ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ หากไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา แต่ที่ผ่านมา จอห์นสัน เคยล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้งในการยื่นญัตติขอการอนุมัติจากสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด ขณะที่พรรคแรงงานตั้งป้อมคัดค้านญัตติดังกล่าว

แต่แผนการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ของจอห์นสัน มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายอย่างที่เขาคาดหวัง เพราะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสภาชิกสภาสามัญถึง 2 ใน 3 หรือ 434 เสียง จากจำนวนสมาชิกในสภาสามัญชนทั้งหมด 650 เสียง และจอห์นสันก็เคยมีประสบการณ์พ่ายแพ้ในการผลักดันการเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะมีส.ส.เพียง 298 เสียงเห็นชอบต่อญัตติในการประกาศยุบสภาของเขา ทำให้อนาคตของสหราชอาณาจักรหลังจากนี้ไปขึ้นอยู่กับสภาสามัญชนอย่างแท้จริง

ความวุ่นวายทางการเมืองในอังกฤษ ยังคงยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี ตั้งแต่การทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงกลางปี 2559 ส่งผลให้อังกฤษต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน ท่ามกลางความพยายามในการหาหนทางแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยให้ส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายน้อยที่สุด

จนถึงขณะนี้ กระบวนการเบร็กซิท ยังคงไม่สามารถเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แถมยังสร้างปัญหามากมายให้กับอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ความแตกแยกในหมู่นักการเมืองไปจนถึงประชาชนทั่วไป ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของการลงทุน ค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงอย่างหนัก ในขณะที่ท่าที่อันแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างจอห์นสัน ที่พยายามดื้อดึงผลักดันกระบวนการแยกตัวให้เกิดขึ้นภายในกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศการเมืองเลวร้ายลงไปทุกที

แม้ในช่วงสัปดาห์ก่อนมีข่าวออกมาให้ชื่นใจว่า จอห์นสัน สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทกับสหภาพยุโรปได้แล้ว แต่ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอังกฤษ ทำให้สภาสามัญชนต้องรีบจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาข้อตกลงฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อให้กระบวนการเบร็กซิทดำเนินต่อให้เสร็จก่อนกำหนดเส้นตายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค.นี้

จอห์นสัน จึงพยายามที่จะเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ให้สภาพิจารณาอีกครั้ง โดยเขาได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีจำนวน 110 หน้า พร้อมเอกสารชี้แจงหลักการและเหตุผลอีก 124 หน้าต่อสภาก่อนที่การปภิปรายจะเริ่มขึ้นเป็นเวลา 1 วัน

แต่ผลการประชุมเมื่อวันเสาร์(19ต.ค.) ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ มีมติให้เลื่อนการตัดสินใจรับรองข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ฉบับของจอห์นสัน ออกไปจนกว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน เท่ากับว่ามีโอกาสที่อังกฤษจะไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ทันตามกำหนดเส้นตายเดิม ส่งผลให้จอห์นสันต้องยื่นหนังสือขอขยายเส้นตายเบร็กซิทไปยังสหภาพยุโรปอย่างไม่เต็มใจ โดยเขาได้แนบจดหมายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่เบร็กซิทจะต้องล่าช้าออกไป

วันต่อมา สภาสามัญชนก็เปิดอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฏหมายเบร็กซิทของจอห์นสันขึ้น โดยเริ่มจากการลงมติต่อร่างกฎหมายการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ตามด้วยการลงมติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิท ซึ่งผลปรากฏว่า สมาชิกสภาสามัญชนลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป( Withdrawal Agreement Bill) ของจอห์นสัน ด้วยคะแนนเสียง 329 ต่อ 299 เสียง

แต่ในการลงมติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิท ซึ่งรัฐบาลให้เวลาเพียง 3 วันนั้น สภามีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 322 ต่อ 308 เสียง เท่ากับว่าอังกฤษมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปตามกำหนดเดิมภายในวันที่ 31 ต.ค. และต้องให้อียูอนุมัติขยายเส้นตายเบร็กซิทออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแยกตัวโดยไร้ข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะก่อนหน้านี้ “เจเรมี คอร์บิน” หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ประกาศไว้แล้วว่า พรรคแรงงานจะไม่สนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิทของจอห์นสัน รวมทั้งตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิท

ด้วยเหตุนี้ เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวถูกสภาคว่ำ พรรครัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยม จึงถือโอกาสออกมาโจมตีพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้กระบวนการเบร็กซิทต้องยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก

ขณะที่ คอร์บิน ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านเองได้แสดงจุดยืนมาตั้งแต่ต้นว่า เขาไม่ต้องการให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง และจะไม่สนับสนุนข้อตกลงใดๆ ที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมในลักษณะที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศ ทั้งยังเคยท้าทายพรรครัฐบาลให้จัดทำประชามติอีกครั้งด้วย