ยูเอสทีอาร์แจงขาดดุลการค้าไทยเฉียด2หมื่นล้านดอลล์

ยูเอสทีอาร์แจงขาดดุลการค้าไทยเฉียด2หมื่นล้านดอลล์

ยูเอสทีอาร์แจงขาดดุลการค้าไทยเฉียด2หมื่นล้านดอลล์เมื่อปี2561และเมื่อปี 2560 ขาดดุลการค้าภาคบริการให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,046 ล้านบาท

หลังสหรัฐประกาศตัดสิทธิจีเอสพีไทยได้ไม่กี่วันสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(ยูเอสทีอาร์)ก็เผยตัวเลขที่บ่งชี้ว่าสหรัฐขาดดุลการค้าในส่วนที่เป็นสินค้าและส่วนที่เป็นภาคบริการให้ไทยเป็นเงินกว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์ เหมือนจะบอกกลายๆว่านี่คือเหตุผลที่สหรัฐตัดสินใจตัดสิทธิจีเอสพีไทย แต่เมื่อพิจารณาจากการที่สหรัฐเปิดแนวรบทางการค้ากับคู่ค้าหลายประเทศทั้่งเล็กและใหญ่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การตัดสิทธิจีเอสพีไทยครั้งนี้อาจเป็นแค่การโหมโรง สหรัฐยังมีอาวุธลับที่พร้อมจะซัดใส่ไทยอีกหลายดอก

วานนี้ (28ต.ค.)เว็บไซต์สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์)เปิดเผยตัวเลขการค้าทวิภาคีกับไทยว่า สหรัฐเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าสินค้าให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 582,653 ล้านบาท เมื่อปี2561และเมื่อปี 2560 ขาดดุลการค้าภาคบริการให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,046 ล้านบาท

เว็บไซต์ยูเอสทีอาร์ ระบุด้วยว่า ไทย เป็นคู่ค้าสำคัญและพันธมิตรของสหรัฐมาตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2376 ตามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ซึ่งทั้งสองประเทศพบปะกันอย่างสม่ำเสมอตามกรอบข้อตกลงการค้าและการลงทุนทวิภาคีปี 2545 เพื่อหารือเรื่องการขยายการค้าและแก้ไขประเด็นสำคัญ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ศุลกากร เกษตร

ปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าสินค้าอันดับที่ 20 ของสหรัฐ มูลค่าการค้าสินค้าทวิภาคีปี2561 อยู่ที่ 44,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท โดยสหรัฐเป็นฝ่ายขาดดุลให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 582,653 ล้านบาท ลดลง 4.2% จากปี 2560 ขณะที่การค้าภาคบริการทวิภาคีอยู่ที่ 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 202,352 ล้านบาท ในปี 2560 โดยสหรัฐเป็นฝ่ายขาดดุลให้ไทย 962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.0% จากปี 2559

ปีที่แล้ว ไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าใหญ่อันดับที่ 26 ของสหรัฐ โดยสหรัฐส่งออกสินค้ามาไทย 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 380,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% จากปี 2560 เฉพาะสินค้าเกษตรไทยเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับที่ 13 ของสหรัฐ สินค้าหลักได้แก่ ถั่วเหลือง ฝ้าย กากดีดีจีเอส หรือส่วนที่เหลือจากการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จ

ทั้งนี้ การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต เช่น เครื่องนุ่งห่มรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ซึ่งจะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐต่อไปได้ แต่การถูกตัดสิทธิจีเอสพีทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าที่เป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีการพึ่งพาสิทธิจีเอสพีมากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า10% ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่น ๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น

หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ อ่างล้างหน้า เครื่องสูบของเหลว สารเคลือบผิวอีพ็อกซี เรซิน เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ยางนอกชนิดอัดลม ซึ่งหากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐได้

ประมาณสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 9.84 แสนล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2562 โดยเพิ่มขึ้น 26% จากปี 2561 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งตัวเลขขาดดุลนี้เทียบเท่ากับ 4.6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขขาดดุลดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่มีการคาดการณ์กันไว้ หลังจากที่ทำเนียบขาวออกมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้

กระทรวงการคลัง ระบุว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ระดับ 2.30 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ และรายได้จากการจัดเก็บภาษีศุลกากรอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้าที่สหรัฐจะประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งแรกที่จุดชนวนนำไปสู่การทำสงครามการค้าระหว่างกันไม่กี่วัน ก็จะมีการเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีกับจีนให้ทั่วโลกได้รับรู้ เหมือนสหรัฐจะบอกกับประชาคมโลกว่า การตัดสินใจเล่นงานประเทศที่สหรัฐคิดว่าเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด รวมทั้ง จีนและไทยนั้น เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว

นอกจากนี้ การที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐ จนทำให้สหรัฐพยายามโจมตีไทยว่า ไทยแทรกแซงค่าเงินด้วยการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐ แต่ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่าทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งจากสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น และภาคเอกชนของไทยก็เรียกร้องมาโดยตลอดว่าต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แทรกแซงและทำให้ค่าเงินของไทยอ่อนตัวลงบ้าง แต่ธปท.ก็ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงมองว่าสหรัฐ คงไม่พอใจที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ไม่เป็นผล จึงได้มีการตัดสิทธิ์จีเอสพีไทย

ส่วนข้ออ้างของสหรัฐที่ว่าไทยล้มเหลวด้านปกป้องสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ฟังแล้วยิ่งน่าสับสน เพราะที่ผ่านมา ไทยได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ทางสหรัฐต้องการให้แก้ไขมาโดยตลอดเช่น ในปี 2561 ไทยขยับอันดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์มาอยู่กลุ่มเทียร์ 2 (กลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไข และตรวจสอบการลักลอบค้ามนุษย์อย่างจริงจัง) หลังจากที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 คือ ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2557-2558

ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ประกาศยกเลิกสถานะใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู)ให้แก่ไทย แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของไทยจนได้รับการยอมรับ และหากสินค้าอาหารทะเลของไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากปกติอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของสหรัฐไม่ได้สูงมาก