รายได้“TikTok”พุ่งสวนทางข้อกล่าวหาเป็นภัยความมั่นคง
สหรัฐ ประกาศทำศึกกับบริษัทเทคโนโลยีจีนรอบใหม่ คราวนี้เป็นการตรวจสอบ“TikTok”บริษัทแอพพลิเคชันวิดีโอคลิปชื่อดังของจีน ภายใต้ข้อกล่าวหาที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงว่า แอพฯนี้อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า คณะกรรมการการลงทุนต่างชาติของสหรัฐ(ซีเฟียส) ติดต่อไปยังบริษัทไบท์แดนซ์ บริษัทแม่เจ้าของ “TikTok”แอพพลิเคชั่นวิดีโอคลิปชื่อดังจากประเทศจีน เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบกรณีที่เข้าซื้อบริษัทมิวสิคัลลี โซเชียลมีเดีย ที่มีชื่อด้านการทำวิดีโอลิปซิงค์ตั้งแต่ปี 2560ว่า อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ แม้ว่าการทำข้อตกลงดังกล่าวจะผ่านมา 2 ปีแล้ว และบริษัทมิวสิคัลลี ที่ถูกซื้อกิจการไปเป็นบริษัทจีนที่มีเพียงแค่สำนักงานในสหรัฐก็ตาม
การเปิดเผยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ซีเเฟียสกำลังเข้าตรวจสอบ TikTok กรณีที่รัฐบาลจีน อาจเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้แอพพลิเคชันและถึงแม้การเข้าสอบสวนในครั้งนี้ยังไม่ใช่การสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความพยายามของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ต่อกรณีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐ วิตกว่ารัฐบาลบางประเทศ อาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว หรือนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เชิงการตลาด ซึ่งรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐอย่างเฟซบุ๊คและกูเกิ้ลด้วย
แอพฯคลิปวิดีโอชื่อดังของจีน ถูกจับตามองทุกฝีก้าวเมื่อวุฒิสมาชิกสหรัฐ 2 คนคือ "ชาร์ลส อี ชูเมอร์" พรรคเดโมแครต และ"ทอม คอตตอน" พรรครีพับลิกันยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบว่าแอพพลิเคชัน TikTok ของจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่
เนื้อหาในจดหมายที่วุฒิสมาชิก2คนส่งถึงผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งคำถามเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ของ TikTok และสงสัยว่าแอพฯนี้มีการเซ็นเซอร์ตามกฎหมายของจีน จนเป็นการจำกัดสิ่งที่ผู้ใช้ในสหรัฐจะได้เห็นหรือเปล่า
TikTok เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐมีผู้ใช้จำนวนหลายร้อยล้านคน ทำให้วุฒิสมาชิกทั้งสองคนที่เป็นคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของวุฒิสภาเห็นว่าไม่ควรเพิกเฉย ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ใช้มากขนาดนี้สามารถเป็นภัยคุกคามต่อหน่วยข่าวกรองได้
“ข้อกังวลดังกล่าวทำให้เราขอให้หน่วยงานข่าวกรองประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติจากแอพฯ TikTok และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มาจากจีน พร้อมทั้งนำเสนอข้อสรุปต่อสภาคองเกรส”จดหมายของวุฒิสมาชิก2คน ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเซ็นเซอร์เนื้อหาของจีน และจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่อ่อนไหวทางการเมือง อย่างกรณี ภาพการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงต้นปีนี้ โดยสื่อใหญ่อย่างวอชิงตัน โพสต์ ตรวจสอบพบว่าTikTok มีวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมในฮ่องกงน้อยกว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ
แต่ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐจะตั้งข้อสงสัยว่าบริษัทแอพพลิเคชันคลิปวิดีโอของจีนรายนี้เป็นภัยความมั่นคงแต่ในช่วงไตรมาส3ของปีนี้ แอพฯนี้มีผู้ใช้งานในสหรัฐมากถึง 745 ล้านคน เพิ่มขึ้นปีต่อปีกว่า 65%
ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้นที่นิยมแอพฯคลิปวิดีโอนี้ วัยรุ่นทั่วโลกต่างนิยมแอพฯนี้เช่นกันโดยตั้งแต่มีการเปิดใช้แอพฯดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2559 เป็นต้นมา บริษัทเจ้าของแอพฯก็ทำตลาดได้ถึง 150 ประเทศใน 75 ภาษา มียอดผู้ใช้สูงถึงเดือนละ 500 ล้าน
บริษัทความปลอดภัยด้านข้อมูลของเยอรมัน เคยระบุว่า สมาร์ทโฟนสัญชาติจีนทั้งหลายอย่าง เสี่ยวหมี่ ฮวาเหว่ย เหลียนเสียง มีการแอบซ่อนสปายแวร์เพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ และจากการตรวจสอบของทางการอินเดีย พบว่า ทั้ง 42 แอพฯในเวยป๋อ วีแชท ล้วนเป็นสปายแวร์ทั้งสิ้น
แน่นอนว่า ข้อกล่าวหาของสหรัฐและบริษัทเยอรมนีที่ถือเป็นชาติยักษ์ใหญ่ของโลก สร้างความไม่พอใจแก่ทางการจีน และสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน รวมถึง เดอะ โกลบอล ไทม์ส ที่ระบุว่า ไม่ว่าบริษัทจีนจะผลิตสินค้าใดออกมาล้วนเป็นสินค้าที่มีมลทินทั้งสิ้นในสายตาชาติตะวันตก
ไม่ว่าแอพฯTikTok จะเป็นภัยความมั่นคงอย่างที่หลายประเทศกล่าวหาหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือกระแสความนิยมแอพฯนี้แรงมาก ข้อมูลจากแอพฯ อินเทลิเจนซ์ ทาวเวอร์ เซนเซอร์ ทาวเวอร์ ระบุว่า แอพฯ TikTok มียอดดาวน์โหลดสูงกว่าอินสตาแกรม สแนปแชท และยูทูบ ในสหรัฐเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่ TikTok แซงหน้าบรรดาแอพฯยักษ์ใหญ่ของโลก
แม้แต่เฟซบุ๊ค ยังเป็นคู่แข่งของ TikTok โดยเฉพาะฐานผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน ล่าสุด มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)เฟซบุ๊ค ออกมากล่าวโจมตีบริษัทแอพพลิเคชั่นวิดิโอขนาดสั้นรายนี่้ โดยบอกว่า แอพพลิเคชั่นได้ทำการเซ็นเซอร์ผู้ประท้วงทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก รวมถึงในสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ