“10 ปีไทย-เยอรมนี” ร่วมมือรักษ์สิ่งแวดล้อม
“10 ปีไทย-เยอรมนี”ร่วมมือรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอกย้ำร่วมมือกันปกป้องและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านการเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน สู่การแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ ผนึกกำลังความร่วมมือของสองประเทศ
ในงานวิจัยของ Climate Central องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ คาดการณ์ว่า พื้นที่เกือบทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร หรือเทียบเท่ากับจำนวนพลเมืองมากกว่า 10 % ที่อาศัยบนพื้นดินใกล้แม่น้ำ และชายฝั่งทะเล เสี่ยงกับระดับน้ำทะเลสูง หรืออุทกภัยรุนแรงในปี 2593
เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำกรุงเทพฯ ได้หยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นกล่าวในงานฉลองครบรอบ “10 ปี ความร่วมมือไทย - เยอรมัน การเดินทางรักษ์สิ่งแวดล้อม” จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจัดงานดังกล่าว เพื่อตอกย้ำร่วมมือกันปกป้องและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านการเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน สู่การแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ ผนึกกำลังความร่วมมือของสองประเทศ มุ่งมั่นดำเนินงานพร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายร่วมกันในอนาคต
"ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลายเมืองโดยเฉพาะเมืองใกล้พื้นที่ชายฝั่งในแถบอาเซียนและประเทศใกล้เคียงต้องจมบาดาล นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ในระดับภาคประชาชนอย่างเร่งด่วน" ชมิดท์ กล่าวย้ำว่า
เยอรมนีมีความภูมิใจในการเป็นพันธมิตรของประเทศไทย ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีกับไทยได้ร่วมมือกันมากกว่า 60 โครงการ โดยครอบคลุมเรื่องการจัดการของเสีย การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาตรการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง และการส่งเสริมการผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถจัดการหรือรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เยอรมนี ยืนยันจะมุ่งมั่นจะดำเนินงานร่วมกับไทยต่อไป ในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน เพื่อให้เป็นต้นแบบนำไปสู่การถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับประเทศอื่นๆในอาเซียน
ที่ผ่านมา เยอรมนีได้สนับสนุนเงินทุนให้กับไทย สำหรับโครงการราว 57.5 ล้านยูโร จากจำนวนนี้เป็นโครงการภายใต้กองทุน NAMA Facility ด้วยเงินทุนกว่า 13.5 ล้านยูโร ซึ่งเงินทุนทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งเยอรมนี ภายใต้การปฏิบัติงานของแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล หรืออีกี้ (International Climate Initiative: IKI)
โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปกป้องพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
ปัจจุบัน ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เพียงลำพัง ขณะเดียวกัน ไทยเดินหน้าที่จะปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
"ประเทศไทยได้กำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการจัดทำข้อเสนอที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 จากการดำเนินงานตามปกติ ภายในปี 2573 โดยขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก" รมว.ทรัพยากรฯ
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี จะช่วยสนับสนุนความพยายาม ลดอุปสรรค ก้าวผ่านความท้าทาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองฝ่ายจะได้ขยายกรอบความร่วมมือและดำเนินงานในระยะต่อไปร่วมกัน
ภายในงาน ได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางแห่งความร่วมมือไทย - เยอรมัน” พร้อมกับการจัดเสวนาเพื่อสะท้อนมุมมองจากผู้ที่เคยได้ร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการและทรรศนะของผู้แทนเยาวชนที่มีต่อการดำเนินความร่วมมือในอนาคต