ปฏิบัติการ 'ลงถนน' ฮ่องกงที่ไม่ได้มีแค่ 'นักศึกษา'
การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยแทบทุกที่มักเริ่มต้นจากนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯของไทย การประท้วงที่กวางจู เกาหลีใต้ หรือที่เทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง
แต่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงยืนหยัดเลี้ยงกระแสมาได้ยาวนานถึง 6 เดือน ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจของคนหลายภาคส่วน
ชนวนเหตุเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. สำนักงานความมั่นคงฮ่องกงเสนอแก้ไขกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เปิดช่องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีน นอกเหนือจาก 20 รัฐที่มีสนธิสัญญากับฮ่องกง
วันที่ 31 มี.ค.ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว
3 เม.ย. รัฐบาลแคร์รี หล่ำ เสนอแก้ไขกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยก่อคดีอาญาไปดำเนินคดีที่จีนได้
28 เม.ย. ประชาชนเรือนหมื่นเดินขบวนไปยังสภา ขอให้ยกเลิกการแก้ไขกฎหมาย
30 พ.ค. รัฐบาลยอมระงับเรื่องนี้ไป แต่มีเสียงวิจารณ์ว่า แค่นี้ยังไม่พอ
6 มิ.ย. ทนายความกว่า 3,000 คนแต่งชุดดำประท้วง
9 มิ.ย. ประชาชนครึ่งล้านลงถนน และเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อมานับแต่บัดนั้น
แน่นอนว่าภาพผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา แต่ก็มีคนกลุ่มอื่นร่วมด้วยเช่นกัน
- ม็อบคุณแม่
5 ก.ค. แม่ผู้โกรธเกรี้ยวหลายพันคน เดินขบวนบนท้องถนน ประกาศสนับสนุนกลุ่มนักสู้จนตัวตาย คัดค้านร่างกฎหมายเจ้าปัญหา
“อย่าเหงาเลยลูก พ่อกับแม่สนับสนุนหนู” หนึ่งในหลายๆ ข้อความที่ผู้ประท้วงกลุ่ม “แม่ๆ ฮ่องกง” เขียนมาร่วมชุมนุม
- "อากง-อาม่า" ร่วมวง
17 ก.ค. ประชาชนราว 9,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เดินขบวนจากย่านเซ็นทรัลไปยังที่ทำการรัฐบาล เพื่อแสดงพลังสนับสนุนคนหนุ่มสาว ผู้เป็นแนวหน้าต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ผู้ชุมนุมถือป้าย “สนับสนุนคนหนุ่มสาว ปกป้องฮ่องกง”
เหยิง โป ไห่ หญิงวัย 67 ปี ที่เพิ่งก่อตั้งกลุ่ม “เส้นผมสีเงิน” และร่วมจัดเดินขบวนครั้งนี้เผยว่า ต้องการส่งสารไปยังรัฐบาลว่า ผู้สูงอายุสนับสนุนคนหนุ่มสาว
“พวกเด็กๆ โกรธเกรี้ยวก็เพราะรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย มัวแต่เพิกเฉยกับข้อเรียกร้องของเรา ทั้งๆ ที่ผู้คนหลายล้านออกมาเดินขบวนอย่างสันติ”
9 ก.ย. อากง “หว่อง” วัย 85 ปี นำหน้าผู้สูงวัยสมาชิกกลุ่ม “ปกป้องเด็กๆ” ถือไม้เท้าประจันหน้ากับตำรวจปราบจลาจลในย่านตุงชุง กลุ่มนี้ออกมาชุมนุมแทบทุกอาทิตย์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง และยื้อเวลาตำรวจบุกปะทะเด็กๆ
“ผมยินดีให้เขาฆ่าคนแก่มากกว่าให้ไปทำร้ายเด็กๆ พวกเราแก่แล้ว แต่เด็กๆ คืออนาคตของฮ่องกง” อากงหว่องประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน
- น้องๆ มัธยมเอาด้วย
9 ก.ย. ราว 7 โมงเช้า นักเรียน ม.ต้นทั่วฮ่องกงไม่น้อยกว่า 100 โรงเรียนจับมือกันเป็นโซ่มนุษย์ ถือแผ่นป้ายพร้อมตะโกนคำขวัญ “ตอบสนองข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เว้นข้อเดียวก็ไม่ได้” โดยสัปดาห์ก่อนหน้านั้นซึ่งเป็นวันเปิดเทอม เด็ก ม.ต้นพากันโดดเรียนประท้วงมาแล้ว
“ในฐานะนักเรียนย่านไท่โป ได้เห็นเด็กโรงเรียนอื่นถูกตีศีรษะเลือดนองพื้น แล้วจะไม่ให้พวกเราออกมาได้ไง” นักเรียนคนหนึ่งเผยกับแอ๊ปเปิ้ลเดลี่
- พนักงานออฟฟิศไม่ถอย
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 24 พ.ย. พนักงานออฟฟิศใช้เวลาช่วงพักกลางวันมาเดินขบวน หลังเลือกตั้งสถานการณ์สงบอยู่หนึ่งสัปดาห์ มวลชนยังดีอกดีใจกับชัยชนะแบบถล่มทลายของฝ่ายหนุนประชาธิปไตย แต่ในเมื่อรัฐบาลปักกิ่งและฮ่องกงยังนิ่งเฉย ไม่นำพาผลการเลือกตั้ง ก็ถึงเวลาต้องแสดงพลังกันอีกครั้ง
การชุมนุมรอบใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ (29 พ.ย.) จบลงด้วยตำรวจใช้แก๊สน้ำตาในวันเสาร์ (30 พ.ย.) และอาทิตย์ (1 ธ.ค.)
ล่วงเข้าวันจันทร์ (2 ธ.ค.) พนักงานออฟฟิศประท้วงตอนพักเที่ยงอีกครั้ง ที่ชาร์เตอร์การ์เด้น การชุมนุมครั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ตั้งใจดึงพนักงานบริษัทโฆษณาออกมาร่วมชุมนุมให้มากขึ้น
เฟรด นักโฆษณาวัย 24 ปี เผยว่า เขาและเพื่อนร่วมงานช่วยกันสร้างสื่อส่งเสริมการขายให้กับ “เศรษฐกิจสีเหลือง” หรือธุรกิจที่สนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ตอนนี้หลายคนใช้สีเหลืองและลูกโป่งเหลืองเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม
“มองในมุมของการโฆษณา เราสามารถช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ที่เป็นปากเป็นเสียงให้ฮ่องกงได้” เฟรดกล่าว
ผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งกล่าวว่า บริษัทโฆษณาของเขาหยุดสัปดาห์นี้เพื่อร่วมแสดงพลัง ซึ่งเขาหวังว่าบริษัทอื่นๆ จะทำแบบเดียวกัน
ยังไม่มีใครทราบว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงจะจบลงที่ไหน เมื่อใด อย่างไร แต่ให้บทเรียนว่า เมื่อคิดจะ “ลงถนน” และรักษาโมเมนตัมของการต่อสู้เอาไว้ ต้องประสานพลังคนทุกกลุ่มให้ได้ เหมือนอย่างที่คนฮ่องกงกำลังทำ
.
ที่มา: