จีนทดสอบอุปกรณ์เขื่อนสะเทือนชุมชนลุ่มน้ำโขง
ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำโขง รวมถึง5ประเทศที่แม่น้ำสายสำคัญสายนี้ไหลผ่าน เตรียมเจอปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงรอบใหม่ หลังจากรัฐบาลจีนทำการทดสอบอุปกรณ์ภายในเขื่อนแห่งหนึ่งจากทั้งหมด 11 เขื่อนที่ตั้งอยู่บริเวณตอนบนของแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่ถือเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศประกอบด้วยตัวแทนจากลาว กัมพูชา ไทยและเวียดนาม ระบุว่า การที่จีนทำการทดสอบอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในเขื่อนถือเป็นการเตือนว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงประมาณ 50% และเอ็มอาร์ซี ยังคาดการณ์ด้วยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงอาจจะลดลงมากถึง 70 เซนติเมตรในไทยในช่วงวันที่ 6 และวันที่ 10 ม.ค. ส่วนในกัมพูชา คาดว่าระดับน้ำจะลดลง 25 เซนติเมตรในช่วงวันที่ 12 ม.ค.และวันที่ 14 ม.ค.
ในส่วนของประเทศไทย การที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเพราะขาดแคลนน้ำ
“ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศลาว ชาวบ้านต่างบอกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน กล่าวคือระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากนั้นก็ลดลงอย่างรวดเร็วภายในช่วง2-3วัน ฉันได้เดินทางไปที่นั่นและพบว่าเกษตรกรบางพื้นที่เจอปัญหาพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเพราะปัญหาความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าว
ช่วงเดือนก.ค.ปีที่แล้ว น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงต่ำสุดในรอบ 50 ปี สร้างผลกระทบกับประชากรที่อยู่อาศัยตามริมน้ำโขง แม้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเนื่องจากฝนที่ตกลงมาแต่ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาน้ำแล้งหรือน้ำท่วมแต่เป็นปัญหาความผันผวนของระดับน้ำที่ผิดแผกจากที่เคยเป็นตามฤดูกาล หรือผิดธรรมชาติ
เพียรพร กล่าวด้วยว่า การกัดเซาะพังทลายของตลิ่งอยู่ในระดับวิกฤติ ส่วนภาวะความผันผวนของระดับน้ำที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาที่ต้องพึ่งพากระแสน้ำตามฤดูกาล เมื่อชาวประมงหาปลาไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำรายได้ของภาคครัวเรือน
ที่ผ่านมา เพียรพร เคยกล่าวว่า แม่น้ำโขงมีวงจรน้ำขึ้น น้ำลงตามฤดูกาล คือในฤดูฝนที่ฝนตก น้ำก็จะขึ้นตามลำน้ำสาขาต่างๆ น้ำจะท่วมไปถึงที่ราบน้ำท่วมถึง ป่าบุ่ง ป่าทาม และที่ชุ่มชื้นต่างๆ ตะกอนดินหรือน้ำฝนใหม่จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ปลาชนิดต่างๆ อพยพขึ้นมาตอนบนเพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ พอปลายฝนก็ค่อยๆ ลดลงตามฤดูกาล น้ำในช่วงหน้าแล้งก็จะลดลง กลายเป็นหาดทราย เป็นเกาะแก่ง เป็นระบบนิเวศของแม่น้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งแรกตอนปี 2539 ตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 11 แห่ง 9 แห่งในจีน และ 2 แห่งในลาวที่ไซยะบุรีและดอนสะโฮง จะเห็นว่าน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ นี่คือหัวใจการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก โดยไหลผ่านจากตอนเหนือของประเทศจีนไปจนถึงตอนใต้ของเวียดนามกินระยะทาง 4,350 กิโลเมตรและถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับระดับน้ำที่ผันผวนในแม่น้ำโขง รวมทั้งผลกระทบต่างๆที่จะเกิดกับแม่น้ำโขง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ได้รับข้อมูลมาว่าจีนได้มีการเตรียมแผนงานเป็นครั้งแรกเพื่อบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดความหวังในกลุ่มประเทศปลายน้ำว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐบาลจีนในการแก้ปัญหาระดับน้ำลดลง
ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำศูนย์สติมสัน ให้ความเห็นว่า ขณะที่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนทำการทดสอบอุปกรณ์ประเภทใดประจำเขื่อน แต่การประกาศว่าจะทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวก็บ่งชี้ว่าผู้บริหารเขื่อนอาจจะต้องปิดการทำงานของระบบต่างๆภายในเขื่อน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำบริเวณปลายแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว
อายเลอร์ กล่าวว่า ระดับน้ำบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างไทย ลาวและเมียนมาลดลงประมาณ 40% จาก3เมตรเหลือไม่ถึง1เมตร
เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว เขื่อนจิ่งหงของจีน ระบายน้ำออกจากเขื่อน 836 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 599.66 เมตร หลังจากก่อนหน้านี้เขื่อนจิ่งหงมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณ 2,000-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทางการจีนลดระดับน้ำเพื่อให้เห็นเกาะแก่งที่เป็นหินในแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงร่องน้ำให้สะดวกต่อการเดินเรือสินค้า โดยเริ่มตั้งแต่เมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาลงมาถึงเมืองกาหลันป้า ไปจนถึงท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของจีน ติดกับประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว