ขับเคลื่อน ‘SDGs’ ผ่าน ‘ศิลปะยึกยือ’
กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานนิทรรศการแสดงภาพ “ศิลปะยึกยือ ศิลปะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เปิดให้คณะทูตานุทูต และเยาวชนสร้างสมาธิผ่านลายเส้น ปรับสมดุลกรุยทางบรรลุเป้าหมาย SDGs ของยูเอ็น
นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดนิทรรศการแสดงภาพ “ศิลปะยึกยือ ศิลปะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีนายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศศรีลังกา และมัลดีฟส์ ในฐานะผู้จุดประกายแนวคิดศิลปะยึกยืด พร้อมด้วยคณะทูตานุทูต ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศ นักศึกษาและนักเรียนรวมกว่า 100 คนเข้าร่วม
นายพลเดช กล่าวนำเสนอจุดเริ่มต้นงานแนวคิดงานศิลปะประเภทนี้ว่า ศิลปะยึกยือเป็นการวาดลายเส้นด้วยปากกาลูกลื่นสีดำลงบนในกระดาษ มีส่วนประกอบ 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ เส้นอิสระ เส้นประณีต และก้อนหิน เป็นการลากเส้นอย่างช้าๆ โดยไม่ยกปากกา แล้วเมื่อเสร็จการวาดภาพ จะเห็นว่าสามารถสร้างภาพศิลปะที่มีความเป็นเอกลักษณ์และสวยงาม ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำสมาธิเป็นพื้นฐานของแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติหรือยูเอ็น
“ศิลปะยึกยือ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาคนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การวาดลายเส้นทำให้เกิดการพัฒนาสมาธิและสติ หลักการลากเส้นช้า ๆ แบบไม่ยกปากกาเป็นกุศโลบายที่ทำให้เกิดสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายปากกา เมื่อเกิดสติและสมาธิ ศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของบุคคลก็ย่อมสูงขึ้นไปด้วย” นายพลเดชกล่าว
การจัด “นิทรรศการศิลปะยึกยือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” มุ่งที่จะนำเสนอแนวทางการพัฒนาคนควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SGDs) ตามนโยบายของสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 3 “การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” เป้าหมายที่ 4 “การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงอายุเป้าหมายที่ 14 “การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล” เป้าหมายที่ 15 “การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์ทางบก” เป้าหมายที่ 16 “สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมทั้งสร้างความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกด้วย