‘ค้างคาว’ อาจเป็นต้นตอไวรัสโคโรนา
ผลวิจัยล่าสุดของนักวิจัยจีนชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น อาจมีต้นตอมาจากค้างคาวเช่นเดียวกับโรค “ซาร์ส” (SARS) และแม้อันตรายน้อยกว่าโรคซาร์ส แต่ยังมีโอกาสแพร่ระบาดสูง
เว็บไซต์เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ของฮ่องกง รายงานวันนี้ (22 ม.ค.) ว่า ผลการวิจัยที่ทำโดยคณะนักวิจัยร่วมจากหลายหน่วยงานของจีนเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) พบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “ซาร์ส” คือ HKU9-1 เป็นไวรัสที่พบได้ใน "ค้างคาวชนิดกินผลไม้"
บรรดานักวิจัยนำข้อมูลที่มีอยู่มาทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาว่าไวรัสทำปฏิกิริยากับเซลล์ในระบบทางเดินหายใจของคนอย่างไร และทำให้ได้สมมติฐานว่า พาหะของไวรัสน่าจะเป็นค้างคาว โดยอาจมีตัวกลางไม่ทราบชนิดเป็นตัวแพร่เชื้อจากค้างคาวไปสู่คน
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่น่าจะทำให้เกิดการระบาดร้ายแรงเท่าโรคซาร์ส เพราะยีนค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า ไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้มุ่งเล่นงานโปรตีนที่เรียกว่า ACE2 เหมือนกัน
เกา ฝู ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีน ยืนยันวันนี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อในจีนแล้วกว่า 400 คน เสียชีวิตในจีน 9 คน มีต้นตอจากสัตว์ป่าที่จำหน่ายในตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น พร้อมเตือนว่า ไวรัสนี้กำลังกลายพันธุ์และปรับตัว
จีนกั๊กข้อมูลไวรัส?
หลายประเทศในเอเชียเกิดความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสด้านข้อมูลของจีน และหวั่นว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาปริศนานี้อาจร้ายแรงกว่าที่ทางการจีนออกมาแถลง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 41 คนเมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เป็นกว่า 400 คน และผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 9 คน นับถึงวันที่ 22 ม.ค.
ขณะเดียวกัน ไวรัสโคโรนายังระบาดไปนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ล่าสุดพบผู้ป่วยในไทย 4 คน รวมทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐ และมาเก๊า แห่งละ 1 คน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของจีนยืนยันว่า ไวรัสใหม่สามารถแพร่ได้ระหว่างคนสู่คน และมีบุคลากรการแพทย์ 14 คนติดเชื้อจากผู้ป่วยคนเดียว
พิออตร์ ชเลบิคกี ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อที่โรงพยาบาลอัลเวอร์เนีย ในสิงคโปร์ ที่เคยมีประสบการณ์รับมือกับโรคซาร์สระบาดในประเทศ กล่าวว่า ยากจะเชื่อตัวเลขอย่างเป็นทางการจากจีน ขณะมีผู้ติดเชื้อไปโผล่ในประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง “จีนมีประวัติรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น ภาพที่แท้จริงอาจแตกต่างสิ้นเชิง”
อนันต์ พัน ศาสตราจารย์ชีวจริยศาสตร์ และสาธารณสุขโลก มหาวิทยาลัยเยเนโปยาในเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย เตือนให้ทุกประเทศตื่นตัว "โรคติดต่อไม่สนใจเรื่องพรมแดนเมื่อมีการระบาด"
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสรายหนึ่งในเกาหลีใต้ เผยกับเซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ว่า ทางการสาธารณสุขติดต่อสื่อสารกับฝ่ายจีนตลอด แต่ยากที่จะประเมินว่าได้รับข้อมูลเพียงพอแล้วหรือยัง
เหลียง โฮ นัม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่โรงพยาบาลเมาท์ เอลิซาเบธ โนวีนาในสิงคโปร์ กล่าวว่า หวังว่าจะได้รับข้อมูลสำคัญทั้งหมดแต่เนิ่น ๆ เพราะหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับโรคระบาดได้คือความโปร่งใสและรวดเร็วกว่าการระบาดของไวรัส
อย่างไรก็ตาม เหลียงและผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับเซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ ระบุว่า ข้อมูลเท่าที่มีในเวลานี้ บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะอันตรายน้อยกว่าโรคซาร์ส
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติบางส่วน มองว่า เหตุที่การแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่รวดเร็วพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องผ่านขั้นตอนราชการหลายขั้นก่อนจะยืนยันได้
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนเหล่านี้เป็นกรอบการทำงานที่จีนกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้รับมือโรคซาร์สระบาดในปี 2546 หลังจากจีนปกปิดข้อมูลแท้จริงในช่วงแรกจนทำให้ทั่วโลกไม่เชื่อถือ ซึ่งต่อมาโรคซาร์สทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 คนและผู้ติดเชื้ออีกกว่า 8,000 คนทั่วโลก