นับถอยหลัง 'สิทธิพิเศษสิ่งทอ' กัมพูชา
นับถอยหลังสิทธิพิเศษสิ่งทอกัมพูชา ที่แม้การปฏิรูปมีความคืบหน้าก็จริง แต่ปัญหาที่หลายแบรนด์กังวลยังไม่ได้รับการแก้ไข
ระหว่างที่กัมพูชากำลังรอว่าจะถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือไม่ สมาคมโรงงานผลิตเสื้อผ้ากัมพูชาขัดแย้งกับแบรนด์ต่างประเทศที่ผลิตเสื้อผ้าป้อนให้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก แต่ตอนนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อสมาคมกังวลว่าจะสูญเสียสิทธิพิเศษด้านภาษีในการส่งสินค้าไปขายในตลาดยุโรป
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า เหลือเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่สหภาพยุโรป (อียู) ต้องตัดสินใจว่า จะเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของกัมพูชาหรือไม่ ตามโครงการEverything But Arms (อีบีเอ) ที่อียูให้สิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าให้แก่สินค้านำเข้าที่มีแหล่งกำเนิดจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์
การสูญเสียสิทธิพิเศษตามโครงการอีบีเอ ทำให้เสื้อผ้าส่งออกของกัมพูชาไปอียูต้องเสียภาษีเพิ่ม 12% รองเท้าต้องเสียภาษี 8-17% โดยยุโรปเป็นตลาดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชา ที่มีมูลค่าถึง 9.5 พันล้านดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ประเทศอื่นๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกก็แข่งกันชนิดหืดขึ้นคอ เพื่อชิงส่วนแบ่งจากกัมพูชา
ก่อนที่อียูจะตัดสินใจในวันที่ 12 ก.พ. บรรดาแบรนด์ดังระดับโลก เช่น อาดิดาส, ลีวาย สเตราส์, ราล์ฟ ลอเรน และนิวบาลานซ์ ในนามของสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกัน ส่งจดหมายเปิดผนึกให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเมื่อเดือนก่อน เรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทันที ระบุ
“ความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทางของกัมพูชากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง”
จดหมายฉบับนี้ที่ลงนามโดยบริษัทและสมาคม 23 แห่ง กล่าวว่า การปฏิรูปคืบหน้าก็จริง แต่ปัญหาที่หลายแบรนด์กังวลยังไม่ได้รับการแก้ไข
พวกเขาเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายสภาพแรงงานให้เปิดกว้างมากขึ้น ยกเลิกกฎหมายปราบปรามเอ็นจีโอขอให้ทางการยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้นำสหภาพแรงงาน และขอให้สภาพแรงงานทุกแห่งเข้าถึงอนุญาโตตุลาการด้านแรงงานของกัมพูชาได้
จดหมายเปิดผนึกเรียกปฏิกิริยาตอบโต้จากสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอแห่งกัมพูชา (จีเอ็มเอซี) ทันที สมาคมนี้เป็นตัวแทนโรงงาน 580 แห่ง และไม่ค่อยวิจารณ์ผู้ซื้อที่สมาชิกสมาคมต้องพึ่งพา แต่รอบนี้สมาคมตอบโต้แบรนด์เหล่านั้นว่า ทำให้คนงานต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชาตรงข้ามกับข้อเท็จจริง ละเลยความสำเร็จที่ทำได้แล้ว
“จีเอ็มเอซียอมรับว่า ยังมีงานให้ทำอีกมากเพื่อยกระดับแรงงานและสภาพการดำรงชีวิต แต่ความก้าวหน้าก็มีมาก เช่น ขึ้นค่าจ้าง เพิ่มผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางสังคม เหล่านี้ล้วนทำสำเร็จแล้ว” สมาคมตอบโต้และกล่าวว่าผิดหวังกับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าที่ว่ามาก็ยังไม่มากพอให้กัมพูชาคงสถานะสิทธิพิเศษทางการค้าไว้ได้ ในรายงานทบทวนฉบับเดือน พ.ย. อียูระบุว่า กัมพูชายังทำไม่มากพอได้รับอีบีเอ อียูจึงเลือกระงับสิทธิพิเศษบางส่วน
สิ่งที่อียูกังวลมากคือการที่ศาลยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ฝ่ายค้านใหญ่ และการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขต่อเกิม สกคา ผู้นำฝ่ายค้านที่ต้องคดีทรยศชาติ
การยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีทำให้สมาชิกพรรคหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างแดน
เหมือน ตุลา นักสิทธิแรงงานกล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลเป็นเพียงแค่การตบตาถ้าไม่มีความคืบหน้าหรือพัฒนาอย่างเป็นระบบเขาเกรงว่า อาจสูญเสียอีบีเอไปในที่สุด
แม้ยังมีความไม่แน่นอน ปีที่แล้วการส่งออกโดยรวมของกัมพูชายังโตต่อเนื่อง 10 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าเกิน 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 6.45% จากปีก่อนหน้า
ตัวเลขฐานข้อมูลการค้าของอียูชี้ว่า การส่งออกเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า เสื้อผ้าเดินทาง และหมวกยังคงทรงตัว ทะลุ 4.6 พันล้านยูโรในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับทั้งปี 2561 ที่ 4.8 พันล้านยูโร
ที่แซงหน้าคือคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวทะลุ 3.8 พันล้านในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับปี 2561 ทั้งปีอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ที่พุ่งขึ้นมากที่สุดคือสินค้าเดินทาง 11 เดืือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 834 ล้านดอลลาร์ จากทั้งปี 2561 แค่ 389 ล้านดอลลาร์
เคน ลู เลขาธิการจีเอ็มเอซี กล่าวว่า ตลาดสหรัฐเติบโตแข็งแกร่งเนื่องจากปีก่อนผู้ซื้อย้ายจากจีนมาหาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับรัฐบาลปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนของลูกค้าก็อาจหลอกหลอนกัมพูชาได้
กาเรธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า หากกัมพูชาเสียสิทธิพิเศษจากยุโรปมีอีกหลายประเทศจ้องเสียบ
“กัมพูชาค่อนข้างเสี่ยงหากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น กำไรที่ได้จะต่ำมาก แค่ 12% ก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว” ลีเธอร์กล่าวพร้อมเสริมว่า การตัดสินใจของอียูจะเกิดขึ้นในช่วงที่กัมพูชากำลังต่อกรกับปัญหาเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“อย่างน้อยในระยะสั้นค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจกัมพูชามากมาย” นักวิเคราะห์รายนี้ย้ำ
ก่อนไวรัสระบาด ธนาคารโลกที่ประเมินว่า การเสียสิทธิอีบีเอจะดึงการส่งออกสิ่งทอกัมพูชาลงระหว่าง 320-380 ล้านดอลลาร์ คาดการณ์ด้วยว่า จีดีพีกัมพูชาจะลดลงเหลือ 6.8% ในปีนี้ จาก 7% ในปี 2562
แม็กซ์ฟิลด์ บราวน์ ที่ปรึกษาอิสระด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความตึงเครียดกับตลาดส่งออกหลักจะเป็นความเสี่ยงในระยะยาวของกัมพูชา ขณะที่อียูกำลังรอการตัดสินใจ สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐก็เรียกร้องให้ทบทวนสิทธิพิเศษด้านการค้าของกัมพูชาด้วย เป็นไปได้ว่าอาจถูกคว่ำบาตร
“ใครก็ตามที่คิดจะลงทุนระยะยาว 5 หรือ 10 ปีในกัมพูชาจะต้องคิดหนัก ถ้ามองในแง่ของการลงทุนกัมพูชาถือว่าเหมาะ แต่ถ้ามองในแง่ความเสี่ยงทางการเมือง ผมคิดว่ามีตัวเลือกอื่นใกล้ๆ ที่มีเสถียรภาพมากกว่า” นักวิเคราะห์สรุป