ส่องนโยบายเศรษฐกิจ 'อินเดียทศวรรษใหม่'
ตามที่รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นำเสนอร่างงบประมาณประจำปี 2563-2564 ให้สภาพิจารณาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. หากเห็นชอบจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เม.ย.ไปจนถึง 31 มี.ค.2564 ทูตอินเดียได้ชี้แจงถึงร่างงบประมาณดังกล่าวและนโยบายเศรษฐกิจโดยสรุปต่อธุรกิจไทย
“สุจิตรา ดูไร” เอกอัครราชทูตอินเดีย ได้ชี้แจงถึงร่างงบประมาณดังกล่าวและนโยบายเศรษฐกิจโดยสรุปต่อกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายและพัฒนาการของการปฏิรูปในหลายภาคส่วน
ทูตสุจิตรากล่าวว่า อินเดียได้รัฐบาลพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นดีเอ) เป็นรัฐบาลมา 5 ปีตั้งแต่ 2557-2562 และได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งทำให้นโยบายต่อเนื่อง ช่วง 5 ปีแรกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในแง่ของการบริหาร มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เน้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึง นโยบายที่สำคัญมากคือภาษีสินค้าและบริการ (จีเอสที) เป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษี นำไปบังคับใช้ในปี 2560 เก็บภาษีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ (หนึ่งประเทศ หนึ่งตลาด หนึ่งอัตราภาษี) ช่วยลดการเก็บภาษีอื่นๆ อีก 17 รายการ เพิ่มประสิทธิภาพได้มากโดยเฉพาะในแง่การขนส่งและโลจิสติกส์
อย่างไรก็ตามทูตกล่าวว่า จีเอสทีมีปัญหาในทางปฏิบัติบ้างเป็นเรื่องปกติเพราะอินเดียเป็นประเทศใหญ่มาก ตลาดใหญ่ การบูรณาการต้องใช้เวลา แต่รัฐบาลพยายามทำให้ระบบง่ายขึ้น
สำหรับร่างงบประมาณที่นำเสนอในสภาตอนนี้ รัฐบาลมีคณะทำงานที่ครอบคลุม 3 คณะ พยายามผลักดันเศรษฐกิจระดับ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ เป็น 5 ล้านล้านดอลลาร์ พัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ใช้มาตรการหลากหลายโดยไม่ลืมมิติทางสังคม เพราะยังมีชาวอินเดียอีกหลายล้านคนที่ยังยากจนอยู่มาก การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลจึงมีส่วนร่วมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 2.94 ล้านล้านดอลลาร์ ปีที่แล้วจีดีพีขยายตัว 5% คาดว่าในปีงบประมาณ 2563-2564 ตัวเลขอยู่ที่ 6-6.5% โดยมีการเปิดเสรีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในหลายภาคส่วน เช่น ภาคก่อสร้างธนาคาร ประกัน รถไฟ (เปิดเอฟดีไอ 100%) ค้าปลีก สื่อ สายการบิน กลาโหม
ทูตย้ำว่า อีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพในอินเดียก็ใหญ่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเฉพาะในเมืองอย่างเดลี เบงกาลูรู ไฮเดอราบัด สตาร์ทอัพเติบโตในอัตราที่สูงมาก ตอนนี้อินเดียมีสตาร์ทอัพ 15,000 รายและยูนิคอร์นจำนวนมาก รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือทางการเงินแก่สตาร์ทอัพเหล่านั้น
ในงบประมาณฉบับใหม่ ระหว่างปี 2563-2568 รัฐบาลนิวเดลีมีแผนลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางหลวง การคมนาคมทางอากาศ ไปยังเมืองระดับ 3 และ 4
“นายกรัฐมนตรีได้ประกาศวิสัยทัศน์ ทำเศรษฐกิจอินเดียให้ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 แม้เป็นเป้าที่ดูว่าสูงมากในตอนนี้ แต่อินเดียก็มาได้ไกลมาก”
ทูตสุจิตราสรุปถึง การปฏิรูปที่อินเดียทำไปแล้ว เช่น กฎหมายแรงงาน จาก 44 ฉบับปรับเหลือ 4 ฉบับ เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ลดภาษีบรรษัทจาก 30% เหลือ 22% ลดภาษีให้กองทุนต่างชาติ
การปฏิรูปที่สำคัญอันหนึ่งคือด้านดิจิทัล ไม่กี่ปีก่อนนายกฯ ประกาศว่าทุกหมู่บ้านจะต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปัจจุบันอินเดียมีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรสูงมาก ประโยชน์ไม่ได้มีแค่ด้านเศรษฐกิจ เช่น การชำระเงินเพียงอย่างเดียว แต่การศึกษาและบริการด้านสังคมสามารถกระทำผ่านออนไลน์ได้
จากความพยายามนานัปการเห็นผลสำเร็จจากดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก ปี 2557 อินเดียอยู่ในลำดับที่ 142 ปีนี้พุ่งขึ้นมา 79 อันดับมาอยู่ที่ 63
“แม้ยังอยู่ในอันดับต่ำกว่าไทย แต่เราก็ทำได้ดีขึ้นกว่าเก่า เช่น การขออนุญาตที่เคยกินเวลาหลายวันก็ลดเวลาลง การค้าขายต่างรัฐสะดวกขึ้นจากจีเอสที การลงทะเบียน จ่ายภาษี ขอไฟฟ้า และเริ่มต้นทำธุรกิจทุกอย่างง่ายขึ้นทั้งหมด”
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า อินเดียจะยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่โตเร็วที่สุดในโลกต่อไป แม้อัตราการเติบโตอ่อนแรงลง ขณะที่รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของสหประชาชาติ ประจำปี 2561 มองอนาคตอินเดียส่วนใหญ่ยังสดใส ได้แรงหนุจากการบริโภคที่แข็งแกร่ง การลงทุนและการปฏิรูป
สำหรับภาคส่วนที่โดดเด่นของอินเดีย ทูตสุจิตราแนะนำว่า มีทั้งภาคไอที-ไอทีอีเอส (เทคโนโลยีสารสนเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการเสริม) ที่คิดเป็นสัดส่วน 7.7% ของจีดีพี คาดว่าจะโตเป็น 10% ของจีดีพีภายในปี 2568
ภาคค้าปลีก อินเดียเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านนี้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก คาดว่าภาคค้าปลีกจะมีมูลค่าทะลุ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 ปัจจุบันภาคค้าปลีกครองสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี จ้างงานรวม 8% ส่วนอีคอมเมิร์ซก็น่าจะทะลุหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% ในด้านค้าปลีกออนไลน์สินค้าและบริการ
ภาคโทรคมนาคม อินเดียเป็นที่ 2 ของโลกในแง่ของจำนวนการใช้โทรคมนาคม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน คาดว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2564 อยู่ที่ 829 ล้านคน
ภาคเวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ อินเดียเป็นผู้ผลิตยาสามัญในราคาเข้าถึงได้รายใหญ่สุดของโลก ในประเทศมีบริษัทยา 3,000 แห่ง บริษัทผลิต 10,500 แห่ง มีศูนย์สุขภาพ 150,000 แห่ง อินเดียได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่โด่งดังแห่งหนึี่งของโลก มูลค่าสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์
"ไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่แล้ว ในอินเดียก็มีศูนย์อายุรเวทจำนวนมาก หลายครั้งที่นักท่องเที่ยวมาผ่าตัดหรือหาหมอในเมืองไทย จากนั้นไปรักษาแบบอายุรเวทที่อินเดียราว 10 วัน ก่อนกลับประเทศของตนเอง" ทูตอินเดียกล่าวถึงความสอดคล้องต้องกันของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในสองประเทศ
ปริม จิตจรุงพร ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย มองว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยมานานแล้ว เช่น ด้านพลังงาน อินเดียต้องการมาก ด้านการแปรรูปอาหารที่ไทยเก่งอยู่แล้ว จุดหนึ่งที่งบประมาณชุดใหม่ของอินเดียให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์
“ตอนนี้อินเดียกำลังเปิดประเทศ ก่อสร้างตึกเป็นจำนวนมาก คนไทยจึงมีโอกาสในแง่ของการตกแต่งภายใน การก่อสร้างปล่อยให้เขาทำไปเพราะเป็นเรื่องการใช้แรงงาน แต่ของสวยๆ งามๆ ข้างในเราทำได้” ปริมแนะช่องทางการลงทุน พร้อมเสริมว่านักลงทุนไทยหากจะเข้าอินเดียควรไปด้วยกัน สภาธุรกิจส่งเสริมการนำแบรนด์ไทยเข้าไปขาย มากกว่าการนำสินค้าแบรนด์ต่างประเทศเข้าไปในตลาดอินเดีย