เปิด 'จุดเปลี่ยน' ที่ทำให้ 'มาเลเซียปิดประเทศ'
เปิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้รัฐบาลมาเลเซียปิดประเทศสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากกระแสเรียกร้องในโลกโซเชียล หลังจากมาเลเซียกลายเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดถึงกว่า 500 คน
“ผมหวังว่าพี่น้องประชาชนจะอดทนเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ โปรดอย่าตื่นตระหนก อย่าวิตกกังวล และอยู่ในความสงบ ผมเชื่อว่า ด้วยมาตรการเหล่านี้ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เราจะสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในเร็ววัน” คือถ้อยแถลงเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) ของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย หลังตัดสินใจบังคับใช้มาตรการปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. จนถึงวันที่ 31 มี.ค. มีผลทั่วประเทศ
คำสั่งนี้ยังห้ามชาวมาเลเซียทุกคนเดินทางออกนอกประเทศ สำหรับคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องผ่านการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุขและกักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่ชาวต่างชาติทั้งหมดถูกห้ามเข้าประเทศจนถึงสิ้นเดือนนี้
ก่อนประกาศปิดประเทศ มาเลเซียคุมสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ระบาดมาได้ตลอด ยอดติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นไม่มากนับจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา
แต่ "จุดเปลี่ยน" มาถึงเมื่อตัวเลขพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังพบการแพร่เชื้อในมัสยิดชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่จัดงานชุมนุมทางศาสนาครั้งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 1 หมื่นคน ช่วง 27 ก.พ. - 1 มี.ค. ล่าสุด ยอดติดเชื้อสะสมนับถึงวันที่ 16 มี.ค. อยู่ที่อย่างน้อย 553 ราย กลายเป็นประเทศที่ติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียน
ดร.อัดฮัม บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับงานชุมนุมด้านศาสนา ที่มัสยิดศรี เปตาลิง ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. - 2 มี.ค. และจนถึงขณะนี้ กระทรวงฯยังคงติดตามตัวบรรดาผู้ที่เข้าร่วมในงานนี้อยู่ คาดว่าน่าจะมีเข้าร่วมประมาณ 1.6 หมื่นคน
“เราขอให้ผู้ที่เข้าร่วมในงานชุมนุม ติดต่อกับสำนักงานสาธารณสุขท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อรับคำแนะนำต่อไป” ดร.บาบา กล่าวเรียกร้องให้ผู้ที่เข้าร่วมงานชุมนุมดังกล่าว ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดในวงกว้างไปในหมู่ประชาชนชาวมาเลเซียมากกว่านี้
รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์เริ่มติดตามผู้เข้าร่วมงานชุมนุมดังกล่าว หลังจากทางการบรูไนยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าคนแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นชายวัย 53 ปี ที่เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุม
จากสถานการณ์แพร่ระบาดที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แพทย์กลุ่มหนึ่งได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึง ดร.นอร์ ฮิชาม อธิบดีกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบหลัก เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศก่อนสายเกินไป เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้สามารถระบุตัวและแยกกักกันโรค ลดการแพร่กระจายให้น้อยที่สุด
ชาวมาเลเซียถกเถียงกันในเรื่องนี้ ภายใต้แฮชแท็ก #LockDownMalaysia จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในมาเลเซีย มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยเพราะมองว่า คำแนะนำไม่แรงพอจะหยุดกิจกรรมเสี่ยงได้ อีกฟากก็มองว่ายังไม่ถึงเวลา
การระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลถึงการไต่สวนคดีทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย "นาจิบ ราซัก" ทำให้ศาลสั่งระงับไว้ชั่วคราว หลังจากมีรายงานว่าทีมทนายของอดีตผู้นำ ถูกสั่งกักตัวเองจากการใกล้ชิดกับผู้ที่สุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
บริษัทที่ปรึกษากฎหมายของนาจิบ ได้แจ้งไปยังผู้พิพากษาว่า มูฮัมหมัด ชาฟี อับดุลเลาะห์ หัวหน้าทีมทนายได้แจ้งจากภรรยาของเขาว่า พี่สะใภ้ของมูฮัมหมัด ชาฟี ต้องเข้าตรวจหาเชื้อไวรัสเนื่องจากมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเธอติดเชื้อโควิด-19 โดยพี่สะใภ้คนนี้ได้เดินทางมายังบ้านของมูฮัมหมัด ชาฟี เมื่อวันเสาร์ 7 มี.ค. เพื่อร่วมงานทางศาสนาที่บ้านของเขา
ส่วนการออกมาตรการรับมือของรัฐบาลนั้น มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 หมื่นล้านริงกิต (4.7 พันล้านดอลลาร์) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รวมถึงการลดหย่อนภาษีและการช่วยเหลือบริษัทในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว, การจัดหาเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการแจกเงินสดให้กับประชาชน
มหาธีร์ คาดว่า เศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งเผชิญกับภาวะปั่นป่วนทางการเมืองในประเทศด้วยนั้น จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในกรอบ 3.2-4.2% ในปีนี้ โดยลดลงจากตัวเลขประมาณการณ์ครั้งก่อนของรัฐบาลที่ราว 4.8%
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ชะลอตัวลงสู่ระดับที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 10 ปีในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.6% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติการเงินโลก
ธนาคารกลางมาเลเซีย รายงาน ว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อปีลดลงเหลือ 4.3% ในปี 2562 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบทศวรรษเช่นกัน
นอร์ ชัมซิอาห์ โมฮัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวว่า การเติบโตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและการแพร่กระจายของไวรัสรวมทั้งการตอบสนองวิกฤติของทางการ