ถอดบทเรียน '5 จุดอ่อน' ต้นเหตุสิงคโปร์คุมโควิดไม่อยู่
สิงคโปร์ หนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จช่วงแรกของสงครามสกัดโควิด-19 หลังชะลอการระบาดได้กว่า 3 เดือน แต่ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นกว่า 8,000 คน (นับถึง 20 เม.ย.) โดยมีจุดอ่อนสำคัญ 5 จุด เป็นบทเรียนสำหรับประเทศอื่นๆ
ขณะนี้ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงในวันนี้ (20 เม.ย.) ว่า พบผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศอย่างน้อย 8,014 คน หลังยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1,426 คน ถือเป็นสถิติรายวันสูงสุดครั้งใหม่
ทางการสิงคโปร์ระบุว่า ผู้ป่วย “เกือบทั้งหมด” เป็นแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างแออัดตามแหล่งหอพักคนงาน ที่รัฐบาลสิงคโปร์ขยายขอบเขตให้เป็นพื้นที่ควบคุมด้านสาธารณสุขเพิ่มเป็นอย่างน้อย 19 แห่ง โดยหอพัก "S11" ในเมืองปังโกล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ คือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุด โดยพบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 1,508 คน
ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์ ยังอยู่ที่อย่างน้อย 11 คน มีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ขณะที่ผู้ได้รับการรักษาหายแล้วมีอย่างน้อย 768 คน
ปัจจุบัน สิงคโปร์อยู่ภายใต้มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม “เซอร์กิต เบรคเกอร์” เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 4 พ.ค.นี้
และจากสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีในสิงคโปร์ สำนักข่าวต่างประเทศ รวมถึงบีบีซีและสเตรทไทม์ส จึงได้วิเคราะห์ “5 จุดอ่อนสำคัญ” ที่ทำให้สิงคโปร์ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงหลัง แม้อยู่ในช่วงล็อคดาวน์ทั่วประเทศ และน่าจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยเช่นกัน
- 1. หอพักคนงานชาวต่างชาติ
สิงคโปร์มีพนักงานชาวต่างชาติ 1.4 ล้านคน ทั้งวิชาชีพชั้นสูงและผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นคนทำงานก่อสร้าง 2.84 แสนคน และคนทำงานบ้าน 2.55 แสนคน
คนงานชาวต่างชาติพักอยู่ในหอพัก ซึ่งอยู่กันอย่างแออัด ผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งของประเทศ เป็นกลุ่มที่พักอยู่ในหอพักเหล่านี้ โดยหอพักที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ S11 มีผู้ติดเชื้อ 1,508 คน
กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และสำนักงานควบคุมอาคารและการก่อสร้างสิงคโปร์ แถลงร่วมกันวันนี้ว่า ให้แรงงานต่างชาติที่ถือใบอนุญาตทำงานในสายงานก่อสร้าง และผู้ถือใบอนุญาต “เอส พาสส์” (S Pass) สำหรับแรงงานทักษะฝีมือปานกลางในสายงานเดียวกัน กักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุข
- 2. คนเมิน Social Distancing
ก่อนหน้านี้ มีชาวสิงคโปร์กลับมาจากต่างประเทศในช่วงหลังเป็นจำนวนมาก รัฐบาลขอความร่วมมือให้กลุ่มนี้กักตัวเองที่บ้าน เป็นเวลา 14 วัน (ประเมินว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาอย่างน้อย 500 คนที่ตรวจไม่เจอตอนที่เข้าประเทศ)
อย่างไรก็ตาม ระหว่างกักตัวเองอยู่ที่บ้าน คนจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้มงวดมากนัก มีการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในบ้าน ทำให้แพร่ต่อภายในบ้านหรือในครอบครัว แล้วกระจายไปให้คนอื่นต่อไปอีกในเวลาต่อมา จากนั้น รัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายให้กักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดหรือจัดไว้ให้
ขณะเดียวกัน การไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และอยู่รวมกลุ่มกันหรือมีกิจกรรมอย่างใกล้ชิด อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ “Super spreader” ที่นำไปสู่การติดเชื้อจำนวนมาก เช่น งานเลี้ยงอาหารค่ำในเมืองจูรง ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 40 คนในงานเดียว
รัฐบาลต้องแนะนำให้มีกิจกรรมทางสังคมเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมทั้งในและนอกบ้าน เช่น รับประทานอาหารกับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน หรือพบปะเพื่อนฝูงในที่สาธารณะ และควรอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์บางส่วนยังออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นหรือไม่สวมหน้ากากเมื่อออกไปข้างนอก มีความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 คนมาคอยดูแลและกวดขันประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการ มีการออกคำเตือนมากกว่า 6,200 ครั้ง และปรับมากกว่า 1,000 ครั้ง ตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ
- 3. บ้านพักคนชรา
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 10 รายในสิงคโปร์มีอายุมากกว่า 60 ปี
บ้านพักคนชรา “ลี อาห์ มุย” (Lee Ah Mooi) พบผู้ติดเชื้อ 16 รายและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทั้งคู่เป็นหญิงชราวัย 86 ปี
- 4. ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/รร.เตรียมอนุบาล
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์พบว่า เด็กจำนวนมากเป็นพาหะของโรคที่ไม่แสดงอาการและอาจติดเชื้อจากหรือไปสู่ผู้สูงอายุในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว มีผู้ติดเชื้อ 30 รายที่พบจากศูนย์เลี้ยงเด็กอย่างน้อย 2 แห่งและอีก 10 รายพบจากศูนย์ฯอย่างน้อย 10 แห่ง โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ เด็ก และสมาชิกในครอบครัว โดยใน 40 รายที่พบเป็นเด็ก 8 ราย และผู้ใหญ่ 32 ราย
กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือศูนย์ “สปาร์คเกิลท็อตส์” (Sparkletots) พบผู้ติดเชื้อ 27 รายโดยเป็นเด็ก 4 ราย และเป็นผู้ใหญ่ 23 ราย
ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 63 ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กได้ระงับการให้บริการ เว้นแต่กรณีผู้ปกครองที่มีความจำเป็น และไม่สามารถหาวิธีการดูแลเด็กด้วยวิธีอื่นได้
- 5. สถานที่ทำงาน
แม้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์แล้ว แต่ประมาณ 20% ของพนักงานในสิงคโปร์ที่ทำงานในธุรกิจที่จำเป็น เช่น บริการสาธารณสุขและสังคม การขนส่ง อาหาร และธนาคารและการเงิน ยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำงานจากบ้านหรือหยุดงานชั่วคราวเหมือนกับธุรกิจส่วนใหญ่
ขณะที่รัฐบาลพยายามที่จะลดจำนวนกิจการที่ถือว่ายังมีความจำเป็นลงไปอีก เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น
สถานที่ทำงานที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการได้ ต้องมีมาตรการดูแลและระมัดระวังอย่างมาก เช่น ต้องให้พนักงานสวมใส่หน้ากากอนามัย จัดโต๊ะทำงานให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
-------------------------
ที่มา:
https://www.straitstimes.com/singapore/5-weak-links-in-singapores-covid-19-battle