ส่องสายการบินใหญ่ ที่ ‘ล้ม’ ช่วงโควิดระบาด
“สายการบิน” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของวิกฤติโควิด-19 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า สายการบินส่วนใหญ่ทั่วโลกเสี่ยงล้มละลายภายในสิ้นเดือน พ.ค. แต่ก็มีบางสายการบินที่ “ล้ม” ไปแล้วช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
แทบจะทันทีที่มีข่าวไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ระบาดช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ความต้องการเดินทางไปยังเอเชียจากภูมิภาคอื่น ๆ ก็ลดฮวบอย่างรวดเร็ว
แม้กระทั่งก่อนรัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้มาตรการห้ามประชาชนเดินทาง หลายสายการบินเริ่มปรับลดเที่ยวบินไปยังจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากกระแสแตกตื่นเกี่ยวกับไวรัสทำให้ผู้โดยสารเลี่ยงเดินทางมายังภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่สัปดาห์ต่อมาก็เห็นชัดขึ้นว่าเที่ยวบินไปเอเชียไม่ใช่เส้นทางเดียวที่เผชิญกับดีมานด์ที่ลดลง
ในขณะที่ไวรัสระบาดลุกลามไปถึงยุโรป ตามมาด้วยทวีปอเมริกาและแอฟริกา ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารก็ดิ่งลงทั่วทุกภูมิภาค ผู้คนต่างลังเลที่จะเดินทางออกจากบ้าน และพยายามที่จะเลี่ยงการเดินทางทางอากาศ เนื่องจากการอยู่ใกล้ชิดคนอื่นอาจเสี่ยงติดไวรัสได้
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ นักเดินทางพากันเลื่อนซื้อตั๋วสำหรับเที่ยวบินในอนาคต เพราะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโรคระบาด
ขณะเดียวกัน การที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกปิดพรมแดนของคน และหลายเขตปกครองและประเทศประกาศใช้มาตรากรล็อคดาวน์ ทำให้การเดินทางทางอากาศลดลงอย่างชัดเจน จนบรรดาสายการบินต่างระงับเส้นทางบินและจำต้องงดให้บริการ
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับทุกสายการบินทั่วโลกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดการณ์ไว้ว่า สายการบินทั่วโลกจะขาดทุนอย่างน้อย 3.14 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.1 ล้านล้านบาท) ผลจากการระบาดของโควิด-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เมื่อเดือน เม.ย. CAPA บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลก ประมาณการว่า ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ สายการบินส่วนใหญ่ทั่วโลกจะ “ล้มละลาย” หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลและการปรับโครงสร้างอย่างเหมาะสม
และสายการบินดังต่อไปนี้ประสบปัญหาล้มเหลวทางธุรกิจ หรือประกาศล้มละลาย หรือระงับการดำเนินงานไปแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
- ฟลายบี (สหราชอาณาจักร) : มี.ค. 63
“ฟลายบี” สายการบินระดับภูมิภาคของสหราชอาณาจักรเข้าสู่การบริหารจัดการโดยสมัครใจของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการคล้ายกับการประกาศล้มละลาย เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา
ถึงฟลายบีจะมีปัญหาทางการเงินและเสี่ยงที่จะล้มละลายอยู่แล้ว แม้ได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มทุนที่นำโดยเวอร์จิน แอตแลนติกในปีที่แล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดและยอดจองตั๋วลดลงอย่างหนัก จึงกลายเป็นเหมือนการตอกฝาโลงธุรกิจสายการบินนี้
ฟลายบีให้บริการเที่ยวบินราว 40% ของเที่ยวบินภายในประเทศในสหราชอาณาจักร
- ทรานส์ สเตทส์ แอร์ไลน์ส (สหรัฐ) : มี.ค. 63
“ทรานส์ สเตทส์ แอร์ไลน์ส” เป็นสายการบินระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่ในรัฐมิสซูรี โดยดำเนินการให้กับสายการบินยูไนเต็ดภายใต้แบรนด์ “ยูไนเต็ด เอ็กซ์เพรส”
ก่อนไวรัสระบาด สายการบินนี้มีแผนที่จะปิดกิจการอยู่แล้วภายในสิ้นปี 2563 โดยจะควบรวมการดำเนินงานกับสายการบินเอ็กซ์เพรสเจ็ท ซึ่งเป็นสายการบินระดับภูมิภาคอีกหนึ่งรายของยูไนเต็ด
อย่างไรก็ตาม การปิดฉากของสายการบินดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทรานส์ สเตทส์ ระบุในจดหมายถึงลูกจ้างเมื่อเดือน มี.ค. ว่า “สายการบินจะยุติการดำเนินงานทั้งหมดในวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากผลกระทบอย่างฉับพลันจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่”
ทรานส์ สเตทส์ ดำเนินการเที่ยวบินโดยใช้เครื่องบินระดับภูมิภาครุ่น “เอ็มบราเออร์ อีอาร์เจ-145”
- คอมพาสส์ แอร์ไลน์ส (สหรัฐ) : เม.ย. 63
"คอมพาสส์ แอร์ไลน์ส" ซึ่งเป็นอีกสายการบินหนึ่งของทรานส์ สเตทส์ โฮลดิ้งส์ของสหรัฐ ปิดกิจการลงในวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา
คอมพาสส์เป็นสายการบินระดับภูมิภาคอีกรายที่ให้บริการเที่ยวบินสำหรับอเมริกัน แอร์ไลน์ส ภายใต้แบรนด์ “อเมริกัน อีเกิล”
แต่เนื่องจากสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส ปรับลดเที่ยวบินภายในประเทศมากถึง 80% ภายในเดือน พ.ค. จึงทำให้สายการบินรับจ้างบริการอย่างคอมพาสส์ไม่มีความจำเป็นสำหรับอเมริกัน แอร์ไลน์สอีกต่อไป
- เวอร์จิน ออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย) : เม.ย. 63
"เวอร์จิน ออสเตรเลีย" ซึ่งครองส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ของตลาดการบินเอเชียแปซิฟิก ประสบชะตากรรมเดียวกัน โดยได้ยื่นขอการบริหารจัดการโดยสมัครใจของเจ้าหนี้ ตามมาตรา 11 กฎหมายล้มละลายของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา
กระบวนการดังกล่าว หมายความว่า ผู้บริหารยอมรับว่าบริษัทไม่มีเงินสดแล้ว และขอให้เจ้าหนี้เข้ามาบริหารกิจการแทน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธเข้าช่วยเหลือตามคำขอของสายการบิน
แม้สายการบินที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองบริสเบน ได้ระงับการดำเนินงานส่วนใหญ่และให้พนักงานส่วนใหญ่ของตนหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไปก่อนแล้ว แต่ยังคงขาดทุนหนักจากการให้บริการเที่ยวบินราว 65 เที่ยวบินต่อวัน
- เอเวียนกา (โคลอมเบีย) : พ.ค. 63
รายล่าสุด คือ "เอเวียนกา" สายการบินแห่งชาติของโคลอมเบีย และสายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ในละตินอเมริกา ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะล้มละลายเมื่อวันอาทิตย์ (10 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเส้นตาย และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเรื่องผลกระทบจากโรคโควิด-19
อังโก วาน เดอร์ เวิร์ฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเอเวียนกา แถลงว่า สายการบินกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติการก่อตั้งมานาน 100 ปี คณะผู้บริหารได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในหลายทางแล้วได้ข้อสรุปว่า การปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะล้มละลายตามมาตรา 11 ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เอเวียนกา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2462 เป็นสายการบินเก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากเคแอลเอ็ม (KLM) สายการบินแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีเดียวกัน มีจุดหมายปลายทาง 114 แห่ง และมีฝูงบิน 103 ลำ แต่ไม่สามารถบินตามตารางการบินได้ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. พนักงานเกือบทั้งหมดจาก 20,000 คนต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด
ก่อนหน้านี้ เอเวียนกาเคยล้มละลายมาแล้วช่วงต้นคริสต์ทศวรรษหลังปี 2000 และมีหนี้สินพอกพูน 7,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 235,000 ล้านบาท) เมื่อปีก่อน กระทบถึงสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ของสหรัฐที่เสี่ยงสูญเงิน 700 ล้านดอลลาร์ (ราว 22,500 ล้านบาท) จากการให้เอเวียนกากู้ยืมด้วย