‘ธนาคารอาหาร’ ปันสุข อย่างมีระบบ
รู้จัก "ธนาคารอาหาร" แหล่งอาหารดีและปลอดภัยที่เหลือจากการค้าขายในระบบ เปลี่ยนจากของที่ถูกนำไปทิ้ง มาสู่แจกจ่ายให้คนไม่มีจะกิน ที่วันนี้มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก สะท้อนถึงความเป็นองค์กรรากหญ้า ที่ก่อตั้งโดยคนในชุมชน พัฒนาโดยชุมชน และแก้ปัญหาของชุมชน
ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนยากคนจนไร้ตาข่ายรองรับทางสังคมได้รับผลกระทบหนักสุด ในเมืองไทยการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ประชาชนช่วยเหลือกันเอง จึงออกมาในรูปใครมีเหลือก็แบ่งปันกันตามกำลัง ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์ “รับของมากเกิน” ไปย่อมสร้างความหงุดหงิดใจต่อผู้ให้ ที่อยากเห็นความสงบเรียบร้อยแบ่งปันข้าวของให้ผู้รับได้เป็นวงกว้างที่สุด
ปรากฏการณ์แบบนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ต้องแก้ที่คนหรือระบบ หากดูประสบการณ์ในต่างประเทศก็นึกถึง “ธนาคารอาหาร” ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีในทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว
ปรัชญาการก่อตั้งธนาคารอาหารตามข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.foodbanking.org/ ระบุว่า ความหิวโหยเป็นปัญหาที่ซับซ้อนแต่แก้ไขได้ โลกนี้ผลิตอาหารได้เกินพอ แต่ข้อมูลจากสหประชาชาติเมื่อปี 2561 พบว่า ประชากรโลก 821 ล้านคน ยังมีอาหารไม่พอรับประทานและเข้าไม่ถึงอาหาร แต่กลับมีอาหารเหลือทิ้งกว่า 1.3 พันล้านตัน ธนาคารอาหารจึงมีบทบาทนำอาหารดีๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ไปให้ผู้หิวโหย
แนวคิดธนาคารอาหารเริ่มจาก จอห์น แวน เฮงเกล นักธุรกิจเกษียณ เมื่อปลายทศวรรษ 60 ตอนนั้นเขาเป็นอาสาสมัครให้กับโรงครัวแห่งหนึ่งที่พยายามหาอาหารไปให้คนหิวโหย วันหนึ่งเขาได้พบกับแม่ผู้สิ้นหวังคนหนึ่งที่มักไปขุดคุ้ยถังขยะร้านของชำอยู่เสมอ เพื่อหาอาหารไปเลี้ยงลูกๆ เธอแนะนำว่า แทนที่จะนำอาหารดีๆ มาทิ้งถังขยะ น่าจะเอาไปเก็บในสักที่หนึ่งคล้ายๆ กับการเก็บเงินในธนาคาร แล้วค่อยนำอาหารมาใช้ในวันข้างหน้า ณ จุดนี้เองที่ตัวแบบธนาคารอาหารได้ถือกำเนิดขึ้น
แวน เฮงเกล ตั้งธนาคารอาหารเซนต์แมรีส์ในเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา ขึ้นเป็นแห่งแรกของสหรัฐ ปีแรกเขาและทีมงานแจกจ่ายอาหารให้ผู้คนที่ต้องการถึง 124,738 กิโลกรัม คำว่า “ธนาคารอาหาร” ถูกกล่าวขานถึงในวงกว้าง ภายในปี 2520 ธนาคารอาหารก่อตั้งขึ้นทั่วสหรัฐ จากนั้นเกิดเป็นเครือข่ายไปทั่วโลก
สรุปง่ายๆ ธนาคารอาหารคือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่จัดซื้ออาหารดีและปลอดภัยที่เหลือจากการค้าขายในระบบ แทนที่จะนำไปทิ้งก็เอาไปแจกจ่ายให้คนไม่มีจะกิน เน้นการแจกจ่ายผ่าน “องค์กรชุมชน” ซึ่งนี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารอาหารเป็นองค์กรรากหญ้าก่อตั้งโดยคนในชุมชน พัฒนาโดยชุมชน แก้ปัญหาของชุมชน ส่งความช่วยเหลือไปถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยตรง
ในเอเชียและแปซิฟิกเครือข่ายธนาคารอาหารมีทั้งในอินเดีย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ที่เป็นเพื่อนบ้านอาเซียนกับไทย ภายใต้ชื่อ “เดอะฟู้ดแบงค์สิงคโปร์” ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยนิโคลและนิโคลัส อึ้ง สองพี่น้องที่ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอาหาร ภายใต้ภารกิจ “ยุติความไม่มั่นคงด้านอาหารทุกรูปแบบในสิงคโปร์”
กิจกรรมที่ทำมีตั้งแต่รวบรวมอาหารทุกชนิดที่มีอายุเหลือเกิน 1 สัปดาห์ เปิดให้อาสาสมัครมาช่วยคัดแยก จัดหีบห่อ แจกจ่าย ใครมีเงินจะซื้ออาหารแพ็กใหญ่ๆ มาบริจาค หรือจะนำกล่องรับบริจาคไปวางที่สำนักงานก็ได้
นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ว่า “การให้” เป็นสิ่งดีที่เริ่มต้นจากปัจเจก แต่จะได้ผลมากขึ้นถ้าเปลี่ยนจากการให้ของปัจเจกมาเป็นกิจกรรมกลุ่ม อาศัยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะแก้ความหงุดหงิดของผู้ให้ แถมไม่ต้องหาคนเฝ้าหรือติดตั้งกล้องวงจรปิดจับตาคนเอาของบริจาคเกินความจำเป็น โมเดลนี้น่าจะมีประโยชน์แม้พ้นช่วงโควิดไปแล้ว