'สิงคโปร์ แอร์ไลน์' ขาดทุน สัญญาณเตือนการบินเอเชีย
การขาดทุนรายปีครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกือบ 5,000 ล้านบาทของ "สิงคโปร์ แอร์ไลน์" สายการบินแห่งชาติแดนลอดช่อง ถือเป็น "สัญญาณเตือน" ถึงบรรดาสายการบินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียว่า อาจจะมีชะตากรรมเดียวกัน หากยังไม่ปรับตัวรับมือความท้าทายในปัจจุบัน
ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้สายการบินทั่วโลกต้องหยุดให้บริการ “สิงคโปร์ แอร์ไลน์” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการเดินทางแบบพรีเมียมในเอเชีย รายงานผลประกอบการปีงบการเงินที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ระบุว่า ขาดทุนสุทธิ 212 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,773 ล้านบาท) เทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้าที่ได้กำไรสุทธิ 683 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 15,376 ล้านบาท)
ตัวเลขรายปีดังกล่าวถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 48 ปี นับตั้งแต่สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์เปลี่ยนชื่อจาก “มาลายัน แอร์เวย์ส” มาเป็น สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เมื่อปี 2515
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ทั่วโลกหยุดชะงัก ขณะที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ และ ซิลค์แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินในเครือ ได้ระงับให้บริการ 96% ของเที่ยวบินทั้งหมดไปจนถึงเดือน มิ.ย.ส่วน “สกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือ ได้ลดการให้บริการลงถึง 98% ของเที่ยวบินทั้งหมด
“ความกลัวว่าเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่จะแพร่ระบาด และมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางทั่วโลก รวมทั้งการปิดพรมแดน ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศรายไตรมาสล่มสลาย ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้สายการบินสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับการประกันความเสี่่ยงด้านพลังงาน” โฆษกสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ กล่าว
สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ซึ่งให้บริการเที่ยวบินในจุดหมายปลายทางต่างๆ 130 แห่งทั่วโลก ไม่มีตลาดการบินพลเรือนในประเทศ และดูเหมือนจะเป็นสายการบินที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในเอเชียจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. สายการบินได้ลดขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารลง 96% เพราะมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางของประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้ไตรมาสซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค. จำนวนผู้โดยสารของสายการบินลดลง26%เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปริมาณการบรรทุกผู้โดยสารลดลงเหลือ 73% จาก 82% เมื่อปีก่อนหน้านี้ ส่วนผลประกอบการสายการบินอื่นๆในเอเชียช่วงเดือนมี.ค. ก็มีแนวโน้มไม่ต่างกัน
ทั้งนี้ ตัวเลขขาดทุนสุทธิโดยรวมของสายการบินหลัก 6 รายในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สายการบินไชนา อิสเทิร์น แอร์ไลน์, ไชนา เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์, แอร์ ไชนา, เอเอ็นเอ โฮลดิงส์ ของญี่ปุ่น, เจแปน แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ สูงถึง 3,200 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่ทำกำไรได้ 1,600 ล้านดอลลาร์
สายการบินเอเอ็นเอ ของญี่ปุ่นขาดทุนสุทธิ 58,000 ล้านเยน (547 ล้านดอลลาร์) ถือเป็นรายได้รายไตรมาสที่ย่ำแย่ที่สุดของบริษัท ส่งผลให้กำไรสุทธิรายปีสำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดเดือนมี.ค.ลดลงประมาณ 75%
“ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลงอย่างมากตั้งแต่เดือนก.พ.แล้ว”ชินยะ คาตะโนะซากะ ประธานสายการบินเอเอ็นเอ กล่าวระหว่างประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 28 เม.ย.
เช่นเดียวกับสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ ที่ขาดทุนรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่บริษัทหวนกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในปี 2555 ที่ 22 พันล้านเยน ส่วนสายการบินจีนที่ถูกขนานนามว่าเป็น“กลุ่มบิ๊กทรี”แต่ละแห่งก็ประสบปัญหาขาดทุนรายไตรมาสจำนวนกว่า 500 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่า อุตสาหกรรมการบินเอเชียอาจเผชิญหน้ากับภาวะขาลงของรายได้และผลกำไรไปอีกพักใหญ่ เมื่อไม่นานนี้ อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) กล่าวว่า การเดินทางทางอากาศจะไม่กลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2566 และตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ความต้องการเดินทางทางอากาศทั้งในยุโรปและสหรัฐปรับตัวร่วงลงกว่า 90%
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการไออาต้า ยังบอกด้วยว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าหากประเทศต่างๆยังคงขยายมาตรการล็อกดาวน์และควบคุมด้านการเดินทาง
“เราได้ขอร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆค่อยๆผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพื่อให้อุตสาหกรรมการบินได้กลับมาเริ่มให้บริการอีกครั้ง และหวังว่าสายการบินบางแห่งจะหวนกลับมาให้บริการได้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนนี้” ผอ.ไออาต้า กล่าว
ข้อเรียกร้องของ ผอ.ไออาต้า มีขึ้นหลังจากเมื่อวันพุธ (13 พ.ค.) สหภาพยุโรป ได้ประกาศแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายผลักดันให้มีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศในยุโรปอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังปิดมานานเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะขับเคลื่อนฤดูท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ขอให้ยุโรปกลับไปสู่การเคลื่อนที่อย่างเสรี พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์ให้มีการสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบิน และมีการรักษาระยะห่างทางสังคมบนรถไฟ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศในยุโรปมีแผนของตัวเองในการเปิดประเทศด้วยกำหนดเวลาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ โดยหลายประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่สามประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลบอลติก คือลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโทเนีย ตัดสินใจเปิดพรมแดนระหว่างกันแล้วเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. เป็นต้นไป เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว
เมื่อเดือนมี.ค. คาปา บริษัทวิจัยด้านการบินพลเรือน ออกรายงานเตือนว่า สายการบินส่วนใหญ่อาจประสบปัญหาล้มละลายภายในปลายเดือนพ.ค.พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและอุตสาหกรรมการบินร่วมมือกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ โดยที่ผ่านมา สายการบินบางแห่งได้ตัดสินใจยื่นล้มละลาย ภายใต้มาตรา11 ของกฏหมายล้มละลายแล้ว รวมถึง สายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย โฮลดิงส์ ซึ่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ถือหุ้นอยู่ 20% และสายการบินเก่าแก่ของภูมิภาคลาตินอเมริกาอย่างเอเวียงกา โฮลดิงส์
ขณะที่กลุ่ม 3 สายการบินรายใหญ่สุดของจีนนั้น พอล ยัง นักวิเคราะห์ด้านการบินพลเรือนจากดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ ให้ความเห็นว่า จะประสบภาวะขาดทุนน้อยลงในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.เพราะการเดินทางภายในประเทศฟื้นตัวและราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง