เมื่อ 3 ยักษ์ไฮเทคท้าชน 'Zoom' ชิงสมรภูมิแอพ 'ประชุมออนไลน์'

เมื่อ 3 ยักษ์ไฮเทคท้าชน 'Zoom' ชิงสมรภูมิแอพ 'ประชุมออนไลน์'

ขณะที่คนทั่วโลกทำงานและเข้าสังคมจากที่บ้าน เพราะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แอพพลิเคชั่นประชุมออนไลน์ (Teleconferencing App) จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะ “ซูม” (Zoom) ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ เปิดตัวแอพฯคล้ายกันเพื่อแข่งขันในสมรภูมินี้

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้มาใช้แอพพลิเคชั่นประชุมทางไกลของตัวเอง

ในบรรดายักษ์ใหญ่ที่กระโจนเข้าตลาดนี้ ชื่อแอพฯที่น่าจะคุ้นหูที่สุดสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home ในหลายประเทศ คือ Zoom ที่พัฒนาโดยบริษัท Zoom Video Communications ในสหรัฐ

 

  • Zoom พุ่งแรงช่วงโควิด

บริษัท Zoom Video Communications ก่อตั้งเมื่อปี 2554 โดยเอริค หยวน นักธุรกิจชาวจีน-อเมริกัน วัย 50 ปี แต่เดิมนั้น แอพพลิเคชั่น Zoom ไม่ได้มีฐานผู้ใช้มากนัก เพราะส่วนใหญ่ใช้แค่ในแวดวงธุรกิจบางกลุ่ม แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้พนักงานบริษัททั่วโลก หันมาทำงานจากบ้านช่วงกักตัว ความนิยมของ Zoom ก็พุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว

ประโยชน์ของ Zoom นอกจากสำหรับการประชุมทีมงาน และการอบรมแบบออนไลน์แล้ว ผู้ใช้งานยังใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ เช่น การดื่มสังสรรค์ คลาสเต้นรำ และปาร์ตี้วันเกิดแบบออนไลน์ด้วย

158999521944

จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่สามารถประชุมพร้อมกันสูงสุดถึง 100 คน แต่จะจำกัดเวลาคุยวิดีโอไว้ครั้งละไม่เกิน 40 นาที และให้ผู้ใช้เปลี่ยนพื้นฉากหลังตัวเองเป็นสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทะเลทรายหรือชายหาด ขณะร่วมประชุมได้ด้วย

การใช้งานเป็นวงกว้างทำให้ Zoom กลายเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในแอพสโตร์ (App Store) ภายใต้ระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์สตาติสตา เผยว่า อยู่ที่กว่า 3.2 ล้านครั้งระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-1 เม.ย.

ขณะที่บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล “แอพ แอนนี” (App Annie) เผยว่า ในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 2562 ถึง เม.ย. 2563 ฐานผู้ใช้ของ Zoom ทั่วโลกขยายตัว 30 เท่า จากราว 10 ล้านรายมาอยู่ที่ 300 ล้านราย โดยจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้มีเพียงกลุ่มผู้ใช้สำหรับประชุมธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้งานส่วนบุคคลด้วย

 

  • ช่องโหว่ความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Zoom ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยเฉพาะหลังจากมีการประชุมหลายครั้งบนแพลตฟอร์มถูกเจาะข้อมูล บริษัทจึงต้องดึงตัวอดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของ Facebook (เฟซบุ๊ค) โซเชียลมีเดียยอดนิยม เข้ามาแก้ปัญหานี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ด้วยความนิยมที่เติบโตรวดเร็ว Zoom ตกเป็นเป้าของเหล่าแฮกเกอร์จนสำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ออกคำเตือนเมื่อเดือน เม.ย. ให้ผู้ใช้งานในสหรัฐเพิ่มความระมัดระวังจะถูก “ยึดห้องประชุม” (Zoombombing) หรือมีแขกไม่ได้รับเชิญหรือผู้ไม่หวังดีเจาะระบบมาโผล่กลางวงวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

ด้าน Zoom ขอเวลาในการแก้ปัญหา และว่าอีก 90 วัน (นับจาก 7 เม.ย.) จะไม่มีการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพราะต้องการที่จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ทั้งยังเตรียมที่จะทำรายงานความโปร่งใส่เกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้ที่ถูกร้องขอมาด้วย

นอกจากนั้น Zoom ได้ซื้อกิจการ “คีย์เบส” (Keybase) สตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านระบบเข้ารหัสในเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทจริงจังมากกับเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล

 

  • 3 ยักษ์ใหญ่หวังพลิกเกม

ในขณะที่ Zoom กำลังเพลี่ยงพล้ำ จึงเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ต้องเร่งเดินหน้าเปิดตัวแอพพลิเคชั่นหรือฟีเจอร์การประชุมทางไกลมาชิงผู้ใช้งานคืนบ้าง โดยเฉพาะ 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Google และ Microsoft

เมื่อเดือน เม.ย. Facebook ที่มีแอพฯ ส่งข้อความ Messenger ในมืออยู่แล้ว ได้เปิดบริการวิดีโอแชทแบบใหม่ทั่วโลกชื่อว่า “Messenger Rooms” หวังทวงคืนกลุ่มผู้ใช้ Messenger ที่หันไปใช้แพลตฟอร์ม Zoom ในช่วงโควิดระบาดก่อนหน้านี้

บริการใหม่ผ่าน Messenger ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปิดประชุมวิดีโอพร้อมกันได้มากถึง 50 คน และใช้เวลานานเท่าที่ต้องการ แม้ผู้ร่วมประชุมไม่มีบัญชี Facebook ก็ใช้งานได้

158999525340

จุดที่แตกต่างจาก Zoom คือ Messenger Rooms พัฒนาขึ้นเพื่อการพบปะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด ชั่วโมงสุขสันต์ ชมรมหนังสือ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ปกครองเด็ก

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Facebook บอกว่า ผู้ใช้งานสามารถสร้างห้องประชุมเสมือนจริงได้ และเลือกได้ว่าจะเชิญใครเข้าห้องประชุมบ้าง

นอกจากนี้ Rooms ยังมีฟีเจอร์สนุกอื่น ๆ รวมถึงลูกเล่น AR เช่น หูกระต่ายและหน้าเอเลี่ยน ไปจนถึงเปลี่ยนฉากหลังจำลองได้เช่นเดียวกับ Zoom

ขณะที่ Google ซึ่งมีบริการประชุมออนไลน์ชื่อ “Google Meet” อยู่แล้ว ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเปิดให้ใช้บริการประชุมทางไกลฟรีสำหรับผู้ใช้งานทุกคนเมื่อสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อแข่งขันกับ Zoom เช่นกัน

158999526651

ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวใช้งานได้เฉพาะสมาชิกที่ซื้อซอฟต์แวร์พรีเมียมชื่อ “G Suite” สำหรับภาคธุรกิจ แต่หลังจาก Zoom ได้รับความนิยมล้นหลามในช่วงกักตัวหนีโควิด-19 ทำให้ยักษ์ใหญ่กูเกิลถึงกับนั่งไม่ติดและต้องทำอะไรสักอย่าง

“Meet จะเปิดให้ใช้งานได้สำหรับผู้ใช้ทุกคนทั่วโลก เพื่อให้คนจากทุกชนชั้นทางสังคมสามารถสื่อสาร ประชุม และไม่ขาดการติดต่อระหว่างที่กำลังฝ่าฟันช่วงโรคระบาดนี้” ฮาเวียร์ โซลทาโร รองประธานของ G Suite เผย

นอกจากนี้ Google ยังอวดอ้างฟีเจอร์ระบบความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของ Meet และแพลตฟอร์มนี้มีฐานข้อมูลอยู่ในระบบประมวลผลคลาวด์ของบริษัท

ยักษ์ใหญ่รายนี้ ระบุว่า ผู้ที่ต้องการใช้งาน Meet จะต้องใช้หรือสมัครบัญชีของกูเกิลก่อนถึงจะร่วมการประชุมทางไกลได้ โดยตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย.นี้ ระบบจะจำกัดเวลาประชุมไว้ที่ 60 นาทีต่อครั้ง และจะทยอยเปิดให้ใช้งานฟรีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ส่วนยักษ์ใหญ่อีกรายอย่าง Microsoft ก็มีบริการชื่อ “Microsoft Teams” ซึ่งให้ผู้ใช้สามารถแก้ไขเอกสาร Word และ Sheet ขณะประชุมทางไกลได้อย่างสะดวก

158999527791

แพลตฟอร์มนี้ได้อานิสงส์จากช่วงคนกักตัวหนีโควิดระบาดเช่นกัน โดยไมโครซอฟท์รายงานว่า ยอดผู้ใช้งานรายวันของ Teams แตะ 75 ล้านรายทั่วโลกในช่วงปลายเดือน เม.ย. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่าจากช่วง 5 เดือนก่อนหน้า

 

  • ศึกนี้เพิ่งเริ่มต้น

จะเห็นได้ว่า บริษัทเทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมองว่า การประชุมผ่านวิดีโอเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาจำนวนผู้ใช้งานให้อยู่บนแพลตฟอร์มของตนนานขึ้น และต่างแข่งกันปรับปรุงบริการที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้บริโภคมีแต่ได้ประโยชน์

บริษัทวิจัย Transparency Market Research คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดแอพพลิเคชั่นการประชุมออนไลน์ทั่วโลกจะเติบโตจาก 6,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.91 แสนล้านบาท) ในปี 2562 เป็น 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.09 แสนล้านบาท) ภายในปี 2573

ที่สำคัญ การต่อสู้ช่วงชิงในสมรภูมินี้มีแต่จะดุเดือดขึ้นอีก เนื่องจากหลายบริษัททั่วโลกพิจารณาอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ แม้หลังผ่านพ้นช่วงระบาดของโควิด-19 แล้วก็ตาม

--------------------------------------------

อ้างอิง: Asia NikkeiBreitbartBarrons