ไขข้อสงสัย! 5G เร่งการระบาด 'ไวรัสโคโรน่า' จริงหรือไม่?

ไขข้อสงสัย! 5G เร่งการระบาด 'ไวรัสโคโรน่า' จริงหรือไม่?

ก่อนหน้านี้ เกิดกระแสข่าวลือ “เครือข่ายโทรคมนาคม 5G กำลังเร่งความเร็วของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 เนื่องจากเครือข่ายเคลื่อนที่แบบเซลลูลาร์ (cellular) กดระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์” แล้วในความเป็นจริงมีมูลหรือไม่?

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงบางแห่งชี้แจงไปแล้วว่า "ไม่มีหลักฐาน" บ่งชี้ว่า สัญญาณ 5G มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ล่าสุด "ฟูลแฟค" (Full Fact) มูลนิธิตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญชาติอังกฤษ ได้หักล้างข่าวลือเหล่านั้นว่า “ใจความหลักของคำกล่าวอ้างสัญญาณ 5G สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้นไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กับสัญญาณ 5G”

5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายรุ่นใหม่ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่อมากกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง 4G 3G หรือ 2G และข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือสัญญาณ 5G ถูกส่งกระจายด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

“คลื่นวิทยุเหล่านี้เป็นรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (non-ionizing) ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ แตกต่างจากรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสียูวี ที่สามารถสร้างความเสียหายดังกล่าวได้” ฟูลแฟคระบุ

ด้านองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ไวรัสต่าง ๆ ไม่สามารถแพร่ผ่านเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือคลื่นวิทยุ โดยโรคโควิด-19 แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพ่นออกมาขณะพูด รวมถึงติดเชื้อได้หากสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วจับตา ปาก หรือจมูก

นอกจากนั้น WHO ย้ำว่า โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ไม่มีเครือข่ายสัญญาณ 5G สอดคล้องกับฟูลแฟคที่ยกตัวอย่างว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หนักหน่วงที่สุดอย่าง "อิหร่าน" ซึ่งยอดผู้ป่วยทะลุ 1.6 แสนรายแล้ว "ไม่มีสัญญาณ 5G"

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือน พ.ค. พอล เฟลทเชอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารของออสเตรเลีย ออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารผิด ๆ ที่เชื่อมโยงโรคโควิด-19 กับเทคโนโลยี 5G โดยย้ำว่า “การโยง 2 เรื่องนี้เข้าด้วยกันนั้นไม่มีมูลความจริงเลย”

159127499147

ต้นเดือน เม.ย. ในอังกฤษเผชิญกับข่าวลือลักษณะทฤษฎีสมคบคิดที่ระบุว่าเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูง 5G มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 จนทำให้มีคนที่หลงเชื่อและหวาดกลัวตามข่าวลือไปเผาทำลายเสาสัญญาณ 5G ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า เป็นข่าวปลอม และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีประจำคณะรัฐบาลอังกฤษ กล่าวขณะนั้นว่า ข่าวดังกล่าวไร้สาระ แต่ก็มีอันตรายแฝงมาด้วย หลังจากที่มีเสาส่งสัญญาณ 5G บางแห่งถูกเผาและทำลาย และมีรายงานว่าพนักงานของบริษัทโทรคมนาคมบางแห่งถูกข่มขู่คุกคาม ในแถบภาคกลางและเหนือของอังกฤษ

เสาส่งสัญญาณแห่งหนึ่งที่เมืองเบอร์มิงแฮม ของบริษัทบีที (BT) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ถูกเผาเสียหายเมื่อไม่กี่วันก่อน หลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดว่า โควิด-19 อาจเกี่ยวข้องกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต 5G แม้ว่าเสาดังกล่าวที่ถูกเผาจะส่งสัญญาณเฉพาะ 2G 3G 4G แต่ไม่ใช่ 5G ก็ตาม

ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า ข่าวปลอมที่ว่านี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ มารองรับ แต่กลับมีคนเชื่อจริงจัง และสร้างปัญหาต่อระบบสื่อสารในยามที่ต้องการใช้เพื่อติดต่อกรณีเร่งด่วน ซึ่งรวมถึง เครือข่ายโทรศัพท์ที่บรรดาเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินและบุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ในช่วงที่กำลังเิกดการระบาดของโคโรนาไวรัสในขณะนี้ด้วย

ขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ 4 อันดับต้น ๆ ของอังกฤษ คือค่ายดับเบิลอี (EE), โอทู (O2), ทรี (Three) และ โวดาโฟน (Vodafone) อยู่เฉยไม่ไหวต้องออกแถลงการณ์ร่วม ขอร้องให้ประชาชนหยุดเผาเสาสัญญาณ เนื่องจาก “เป็นอันตรายต่อผู้คนและบริการที่ต้องพึ่งพาความต่อเนื่องของบริการของเรา รวมทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายกับวิศวกรของบริษัท และเป็นอุปสรรคต่อการดูแลเครือข่ายสัญญาณอีกด้วย”

ครั้งนั้น โวดาโฟนยืนยันว่า มีเสาสัญญาณของบริษัท 4 เสาถูกเผาภายใน 24 ชั่วโมง และบริษัทดับเบิลอีเผยว่า เสาที่เมืองเบอร์มิงแฮม ไม่ได้เป็นเสาสัญญาณ 5G ด้วยซ้ำ แต่ก็โดนเผาไปด้วย