ปมขัดแย้ง 'อังกฤษ-จีน' ลามอุตสาหกรรมแบงก์
กรณีจนท.ระดับสูงรัฐบาลอังกฤษเสนอให้สัญชาติชาวฮ่องกงที่ต้องการอพยพหนีการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่สภาผู้แทนประชาชนจีนอนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กำลังบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอังกฤษ และอาจลามถึงอุตสาหกรรมธนาคาร
ประเด็นให้สัญชาติชาวฮ่องกง ที่ต้องการอพยพหนีการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่สภาผู้แทนประชาชนจีนอนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอังกฤษ จนทำให้กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง กำลังเป็นปมปัญหาที่บั่นทอนความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอังกฤษ
แถมปมนี้ยังลามไปถึงภาคธนาคารชั้นนำของอังกฤษอย่างธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ที่ล่าสุด ออกตัวหนุนกฏหมายความมั่นคงในฮ่องกงสุดตัว จนรัฐบาลอังกฤษต้องออกมาตำหนิกึ่งปรามถึงความเหมาะสม
“จาคอป รีส์-ม็อกก์” ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมในรัฐสภาอังกฤษ กล่าวว่า ธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในลอนดอน อาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนมากกว่ารัฐบาลของสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ขณะที่ “ทอม ทูเกนด์แฮต” และ “นีล โอไบรอัน” สมาชิกฝ่ายเสรีนิยมตำหนิการกระทำของเอชเอสบีซี พร้อมแนะนำให้ชาวอังกฤษเปลี่ยนไปใช้บริการสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ธนาคารเอชเอสบีซี ประกาศสนับสนุนการใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำลายเสรีภาพ และละเมิดหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ฮ่องกงยึดถือมาโดยตลอด
หลังจากเอชเอสบีซีออกประกาศสนับสนุนดังกล่าว “อลิซแตร์ คาร์ไมเคิล” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ส่งจดหมายไปยัง “โนเอล ควินน์” ซีอีโอของธนาคารเอชเอสบีซีว่า การกระทำครั้งนี้กระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสภา
คาร์ไมเคิล ระบุในจดหมายว่า “คุณคงไม่ประหลาดใจที่ได้รู้ว่าการกระทำของเอชเอสบีซี ทำให้สภามีความกังวลเป็นอย่างมากว่าการแสดงออกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างพวกคุณอาจทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น”
นอกจากเอชเอสบีซีแล้ว ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ต) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่อีกแห่งของอังกฤษ รวมถึง บริษัทรายใหญ่อย่าง จาร์ดีน แมธทีสัน และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ของฮ่องกง ก็ออกมาสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ขณะที่มีประเด็นถกเถียงเรื่องกฏหมายความมั่นคงกันอย่างเข้มข้นนั้น สภานิติบัญญัติฮ่องกงได้ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้การดูหมิ่นเพลงชาติจีนผิดกฎหมาย ด้วยมติเห็นชอบ 41 เสียง และคัดค้าน 1 เสียง โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยงดออกเสียง และตะโกนคำขวัญประณามร่างกฎหมายดังกล่าวแทน
ก่อนการลงมติได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย 2 คน ขว้างถุงบรรจุของเหลวมีกลิ่นเหม็นในห้องประชุม ระหว่างการอภิปรายวาระสุดท้ายเพื่อแสดงจุดยืนประท้วงเหตุนองเลือดที่จีนส่งกองทัพปราบปรามการชุมนุมของประชาชนในจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ 31 ปีก่อน จนทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้ามาควบคุมสถานการณ์
ร่างกฎหมายเพลงชาติจีน กำหนดให้โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกงต้องสอนเพลง “มาร์ชทหารอาสา” หรือเพลงชาติจีน รวมถึงประวัติศาสตร์ของเพลงและมารยาทที่พึงปฏิบัติ โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
การลงมติครั้งนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่สำหรับฮ่องกง ซึ่งสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ริดรอนความเป็นอิสระของศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจอังกฤษที่แทรกแซงกิจการภายในโดยลืมไปแล้วว่าอังกฤษได้มอบฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกจีนแล้ว พร้อมเตือนว่า แผนการขยายสิทธิพลเมืองเพื่อเปิดทางให้สัญชาติชาวฮ่องกงเกือบ 3 ล้านคนนั้นจะเป็นผลร้ายย้อนกลับคืนไปยังอังกฤษเอง
หลังจากประณามการกระทำของอังกฤษแล้ว “จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ยังได้ยื่นหนังสือแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับคำกล่าวของโดมินิก ร้าบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการของฮ่องกง โดยแนะนำอังกฤษถอยห่างจากปากเหว ล้มเลิกความคิดแบบสงครามเย็นและเจ้าอาณานิคม พร้อมทั้งยอมรับและเคารพข้อเท็จจริงที่ว่าฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้ว อังกฤษต้องหยุดแทรกแซงกิจการของฮ่องกงและกิจการภายในของจีนทันที มิฉะนั้น สิ่งที่อังกฤษทำจะย้อนกลับคืนสู่อังกฤษเอง
รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวต่อสภาล่างของอังกฤษว่า ได้ทาบทามรัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ และแคนาดา ซึ่งอยู่ในกลุ่มความร่วมมือด้านข่าวกรองที่เรียกว่า “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes) เกี่ยวกับแผนรองรับหากกฎหมายความมั่นคงมีผลบังคับใช้และทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากต้องการอพยพ ซึ่งในการพูดคุยกันครั้งนี้ ร้าบเสนอให้ประเทศเหล่านี้แบ่งเบาคลื่นอพยพของชาวฮ่องกงด้วย
สิ่งที่ร้าบทำ สอดคล้องกับบทความของนายกฯจอห์นสัน ที่เขียนในคอลัมน์หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์และเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ยืนยันว่า อังกฤษจะไม่ทอดทิ้งชาวฮ่องกง และจะเสนอวีซาให้ชาวฮ่องกงหลายล้านคน ที่อาจปูทางไปสู่การได้สัญชาติอังกฤษในโอกาสต่อไป หากจีนยืนกรานว่าจะผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้