นักวิเคราะห์ต่างชาติเตือน ‘ศึกในพปชร.’ สะเทือนเชื่อมั่นนักลงทุน

นักวิเคราะห์ต่างชาติเตือน ‘ศึกในพปชร.’ สะเทือนเชื่อมั่นนักลงทุน

บรรดานักวิเคราะห์ในต่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้ สะท้อนถึงความแตกแยกภายในพรรคแกนนำรัฐบาล และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สูญเสียรัฐมนตรีไปหลายคน รวมถึงตำแหน่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จนถึงขณะนี้มีรัฐมนตรีลาออกจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว 6 คน ซึ่งรวมถึงนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรอยเตอร์ระบุว่าถือเป็น "ซาร์ด้านนโยบายเศรษฐกิจ"

แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใครบ้าง แต่นายกฯประยุทธ์เผยว่า จะประกาศปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนหน้า

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ความล่าช้าในการหาตัวแทนขุนพลด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวหนักที่สุดในเอเชียในปีนี้

การลาออกของรัฐมนตรีหลายตำแหน่งเกิดขึ้นหลังมีรายงานก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำพรรครัฐบาลผสม ปัจจุบัน พลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลครองเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำในสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 ที่นั่ง

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ก่อนลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล รัฐมนตรี 4 คนซึ่งรวมถึงนายอุตตม ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยนายอุตตมมีตำแหน่งเดิมเป็นถึงหัวหน้าพรรค

 

  • ศึกชิงเก้าอี้รมต.เดือด

แฮริสัน เฉิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการและหัวหน้านักวิเคราะห์ประเทศไทยจากบริษัทที่ปรึกษา “คอนโทรล ริสก์ส” (Control Risks) ระบุว่า การปรับคณะรัฐมนตรีของไทยจุดชนวน “ศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรีอันดุเดือด” ระหว่างสมาชิกพรรครัฐบาลด้วยกันเอง และอาจทำให้ความขัดแย้งภายในเลวร้ายลงไปอีก

เฉิง ประเมินว่า แผนของนายกฯประยุทธ์ที่ต้องการดึง “คนนอกที่มีชื่อเสียง” จากภาครัฐและเอกชนมาร่วมทีมเศรษฐกิจ จะกระตุ้นให้เกิด “ความไม่พอใจร้าวลึก” ในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์น่าจะยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เนื่องจากพรรคร่วมแทบไม่แสดงความต้องการที่จะถอนตัวแต่อย่างใด ขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่มีเสียงในสภามากพอที่จะท้าทายรัฐบาลผสมชุดนี้ได้

“ความเห็นที่ไม่ตรงกันน่าจะรุนแรงขึ้นอีกทั้งภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล และอาจทำให้การเคาะรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ล่าช้าไปถึง 2 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน”

บริษัทแคปิตัล อีโคโนมิกส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างหนัก จะเผชิญภาวะหดตัวหนักที่สุดในเอเชีย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อาจติดลบ 9% ในปีนี้

 

  • ความไม่แน่นอนทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระของญี่ปุ่น คาดว่า การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีของไทยจะไม่มีผลกับแผนเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล แต่อาจมีความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับการบริหารมาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะหลังการลาออกของนายสมคิด

“การลาออกของนายสมคิด ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้มีความไม่แน่นอนด้านนโยบายอยู่บ้าง ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟันฝ่าภาวะถดถอยครั้งใหญ่”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากธนาคารเอเอ็นแซดของออสเตรเลีย ระบุว่า “ความไม่แน่นอนทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย” และว่า ถึงแม้ขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญจะลาออกไป แต่คาดว่านโยบายของรัฐบาลจะยังคงโฟกัสที่การเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจเช่นเดิม