'โควิด' หนุนธุรกิจ 'ทุเรียน' มาเลย์ ขายดีทางออนไลน์

'โควิด' หนุนธุรกิจ 'ทุเรียน' มาเลย์ ขายดีทางออนไลน์

ในช่วงที่ชาวมาเลเซียถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพราะโควิด-19ระบาด บรรดาผู้ค้าทุเรียนริมทางต้องหันไปขายทางออนไลน์ ผลปรากฏว่า ความต้องการพุ่งสูงอย่างไม่คาดคิด 

   

ทุเรียน เป็นผลไม้เขตร้อนที่ปลูกกันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ที่ชื่นชอบต่างยกย่องให้เป็น "ราชาแห่งผลไม้" เพราะเนื้อนุ่มสีเหลืองทองรสชาติหวานแกมขม แต่คนที่ไม่ชอบบ่นว่ากลิ่นรุนแรงเกินทานทน บางคนเปรียบว่าเหม็นเหมือนอาหารบูด หรือเหมือนกลิ่นอาเจียนค้างคืน จนโรงแรมและรถขนส่งสาธารณะหลายที่ต้องห้ามนำทุเรียนเข้ามา

แผงค้าทุเรียนริมถนน ที่ชาวมาเลเซียเข้ามาเลือกซื้อและได้กลิ่นหอมหวนของผลไม้สุดโปรดมาหลายสิบปีแล้ว ก็เช่นเดียวกับธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศที่ต้องปิดตัวลงในช่วงล็อกดาวน์ แต่การขนส่งสินค้าด้วยรถจักรยานยนต์และรถยนต์ยังทำได้ บริษัทค้าทุเรียน เช่น ดุไลฟรุตส์เอนเตอร์ไพรซ์ จึงใช้โซเชียลมีเดียเป็นตลาดขายทุเรียนแช่แข็ง

เอริก ชาน กรรมการผู้จัดการ เผยว่า เขาเคยสงสัยว่าการย้ายไปขายออนไลน์จะได้ผลหรือไม่ เพราะชาวมาเลเซียนิยมรับประทานทุเรียนสด และความพยายามขายของออนไลน์ก่อนหน้านี้ก็ได้เสียงตอบรับไม่มาก แต่กลายเป็นว่าการขายทุเรียนได้รับความนิยมมาก

"ขายไปแค่ 5 วัน ได้ออเดอร์หลายร้อยออเดอร์ทุกวัน"

ทุเรียนในมาเลเซียนั้นอาจทำราคาได้กว่า 60 ริงกิต (450 บาท) ต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการมีถึง 137 สายพันธุ์ ตั้งแต่มูซังคิง ไปจนถึงทุเรียนหนามดำ และทุเรียนกุ้งแดง

บริษัทค้าทุเรียน "ท็อปฟรุตส์" ขายทุเรียนแกะแล้วปิดผนึกใส่ถุงขนาด 300 กรัมบนเฟซบุ๊ค ช่วงล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ต้องส่งสินค้าวันละราว 80 ออเดอร์

ตัน ซูเซียน กรรมการผู้จัดการท็อปฟรุตส์เล่าว่า ลูกค้าเห็นประโยชน์ของการส่งผลไม้กลิ่นแรงถึงหน้าประตูบ้าน

"คุณไม่ต้องกังวลเลยว่า ซื้อทุเรียนมาแล้วรถคุณจะเหม็น" ตันอธิบายข้อดีของบริการส่งทุเรียน

แต่นับตั้งแต่ทางการเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค . การขายทุเรียนออนไลน์ในมาเลเซียก็เริ่มลดน้อยลง เพราะเหล่าคนรักทุเรียนค่อยๆ กลับออกไปซื้อทุเรียนริมถนนเหมือนเดิม

การระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซียค่อนข้างน้อย ผู้ติดเชื้อเกือบ 9,000 คน เสียชีวิต 124 คน

ถึงตอนนี้คำสั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์ยังคงครองสัดส่วนเพียงน้อยนิดสำหรับผู้ค้า ที่ส่วนใหญ่เน้นส่งออกทุเรียนจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะส่งออกไปจีน ที่ชื่นชอบผลไม้มีหนามชนิดนี้มาก นอกนั้นก็เป็นการขายตามแผง แต่พวกเขาก็มีความหวังถึงอนาคต

“ยังมีโอกาสสำหรับการเติบโต โอกาสที่จะโตอย่างรวดเร็ว” ตันกล่าว

ด้าน ลินด์เซย์ กาสิก ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทุเรียนหลายเล่มกล่าวว่า การซื้อทุเรียนออนไลน์ต้องใช้เวลา

“ฉันคิดว่าเมื่อห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์เข้าที่ ผู้คนจะตระหนักว่า การขายทุเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก” กาสิกกล่าว และว่า นอกจากบริการส่งสินค้าที่ทำให้ลูกค้ารับทุเรียนได้ง่ายขึ้นแล้ว การขายออนไลน์ยังเปิดให้เห็นสายพันธุ์และสวนทุเรียนจำนวนมากขึ้นด้วย

“สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ดีแค่เฉพาะตัวลูกค้า แต่ดีกับเกษตรกรด้วย การขายทุเรียนออนไลน์ยังไงก็ไปได้สวย” ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน

การซื้อทุเรียนออนไลน์อาจช่วยลดปัญหาบางอย่างได้ด้วยกระทรวงการค้าภายในและคุ้มครองผู้บริโภคแนะนำว่า คนรักทุเรียนควรเดินไปซื้อทุเรียนจะดีกว่า เพราะมีรายงานว่าผู้ค้าบางรายคิดราคาทุเรียนจากรถที่ขับ ถ้าลูกค้ารายใดขับรถราคาแพง ราคาอาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า

ความนิยมในทุเรียนทำให้เดือนก่อน ที ซี โก๊ะ ประธานสมาพันธ์สมาคมจีนในมาเลเซีย เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดที่ดินทำการเกษตรเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปลูกทุเรียน หนุนเศรษฐกิจประเทศ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ทุเรียนให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกปาล์มน้ำมัน รัฐบาลควรรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมทุเรียนที่มีศักยภาพมหาศาล ตั้งแต่การทำสวนทุเรียนไปจนถึงกระบวนการปลายน้ำ

โก๊ะเชื่อว่า แนวทางนี้จะเสริมสถานะมาเลเซียให้ดียิ่งขึ้นในฐานะผู้ผลิตทุเรียนชั้นนำในตลาดโลก ตอนนี้ทุเรียนมาเลเซียมีชื่อเสียงโด่งดังในหมู่คนรักทุเรียนทั่วโลก โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง

ตัวอย่างเช่น ทุเรียน “คินาบาลูคิง” ที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของซาบาห์ นับตั้งแต่วางตลาดเมื่อปีก่อนก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากคนรักทุเรียนชาวมาเลเซีย จึงควรส่งเสริมในตลาดต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น