'ลูกจ้างหญิงญี่ปุ่น' ตกงานแซงหน้าชายยุคโควิด-19
“ลูกจ้างหญิงญี่ปุ่น”ตกงานแซงหน้าชายยุคโควิด-19เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่แรงงานเพศหญิงต้องเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคโควิด-19
ตามปกติ ในสังคมญี่ปุ่น มักให้ความสำคัญกับผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศ แต่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยธุรกิจภาคบริการทั้งโรงแรม อาหาร และค้าปลีกต่างลดพนักงานให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดต้นทุน ท่ามกลางภาวะขาลงของธุรกิจ อันเนื่องมาจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19
แต่การลดต้นทุนด้านบุคลากรของธุรกิจภาคบริการของญี่ปุ่นเน้นที่การลดจำนวนลูกจ้างเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจทั้งในญี่ปุ่นเองและในตลาดแรงงานโลก
ในช่วง7เดือนแรกของปีนี้ แรงงานในญี่ปุ่นตกงานแล้วจำนวน 870,000 คนส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่ทำงานในโรงแรม ธุรกิจให้บริการด้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก และจนถึงทุกวันนี้ ลูกจ้างที่ถูกเลย์ออฟจากภาคธุรกิจทั้ง3ภาคที่กล่าวมาเป็นลูกจ้างผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
หญิงคนหนึ่ง ที่ทำงานพาร์ท-ไทม์ที่โรงแรมแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เปิดเผยกับเว็บไซต์นิกเคอิว่า เธอถูกไล่ออกเมื่อเดือนก.ค.ทำให้เสียรายได้รายเดือนเป็นจำนวนเงิน 150,000-160,000 เยน(1,400-1,500 ดอลลาร์)และตอนนี้เธอกำลังหางานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ก็ไม่ค่อยมีหวังเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในช่วงขาลงและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังทะยอยเลิกจ้างพนักงาน
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนลูกจ้างในธุรกิจภาคบริการและภาคค้าปลีกของญี่ปุ่นลดลงอย่างมากและลดลงในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่นโยบายทำงานจากที่บ้านและลดชั่วโมงการทำงานของร้านค้าและร้านอาหารต่างๆบีบบังคับให้อุตสาหกรรมค้าปลีกและอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานเพศหญิง
เมื่อเปรียบเทียบอัตราเฉลี่ยรายเดือนของแรงงานเพศหญิงในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.ปี2563กับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจการบริการด้านอาหารและโรงแรมลดจำนวนพนักงานหญิงมากถึง 280,000 คน ธุรกิจไลฟ์สไตล์และธุรกิจด้านการพักผ่อนลดพนักงานหญิงประมาณ 140,000 คน ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก พนักงานหญิงหายไปประมาณ 110,000 คน เทียบกับพนักงานเพศชายในแต่ละภาคธุรกิจที่ตกงานไม่ถึง 100,000 คน
ในภาคธุรกิจต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น มีสัดส่วนแรงงานหญิงกว่าครึ่งของแรงงานโดยรวม และส่วนใหญ่เป็นแรงงานพาร์ท-ไทม์ จึงทำให้ง่ายต่อการถูกเลิกจ้าง
จำนวนลูกจ้างโดยรวมในญี่ปุ่นในเดือนก.ค.อยู่ที่ 26.6 ล้านคน น้อยกว่าช่วงปลายปี 2562 ประมาณ 3.2% แต่จำนวนลูกจ้างเพศชายลดลงแค่ 0.8% เท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว นั่นหมายความว่าลูกจ้างเพศหญิงคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของธุรกิจบริการมากที่สุด
“โตชิฮิโร นากาฮามา” นักเศรษฐศาสตร์จากไดอิชิ ไลฟ์ อินชัวแรนซ์ ให้ความเห็นว่า “นี่เป็นสถานการณ์ตรงข้ามกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินโลก โดยช่วงนั้นคนที่ถูกเลิกจ้างคือพนักงานเพศชาย ที่ครองตลาดแรงงานในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เมื่อความต้องการในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้หลายบริษัทตัดสินใจลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานเพศชาย”
นากาฮามา คาดการณ์ว่า ความต้องการพนักงานเพศหญิงในญี่ปุ่นจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและการใช้ระบบตรวจสอบสินค้าด้วยตนเองตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด จะทำให้สังคมญี่ปุ่นรักษาระยะห่างกันมากขึ้นจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติรูปแบบใหม่
ช่วง7ปีจนถึงปลายปี2562 แรงงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงงานเพศหญิงกลับมาทำงานมากขึ้น ซึ่งหากว่าจำนวนของแรงงานเพศหญิงในตลาดแรงงานลดลงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็จะลดลงด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานโลกด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ระบุว่า มีแรงงานเพศหญิงประมาณ 40% ที่ทำงานอยู่ในธุรกิจบริการด้านอาหารและค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ แรงงานเพศหญิงลดลงประมาณ 10.6% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.ปี 2562
แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจภาคบริการทั้งหมดในญี่ปุ่นจะปฏิเสธแรงงานหญิงทั้งหมด โดยเฉพาะในธุรกิจการดูแลสุขภาพที่มีการจ้างพนักงานหญิงเพิ่มขึ้นประมาณ 80,000คนในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.ปี2563 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.-ก.ค.ปี2562 เช่นเดียวกับพนักงานหญิงในธุรกิจข้อมูลและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การระบาดของโรคโควิด-19จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน
“ฮิซาชิ ยามาดะ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (เจอาร์ไอ) มีความเห็นว่า “การได้งานทำที่มีเสถียรภาพ แรงงานต้องเลือกเข้าทำงานในอุตสาหกรรมที่ประเมินแล้วว่าขาดแคลนแรงงานหรือเป็นธุรกิจที่เน้นการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่แรงงานเพศหญิงต้องเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคโควิด-19”