รีธิงค์‘ท่องเที่ยวอาเซียน’ยุคโควิด
ผ่านการระบาดใหญ่ตามคำประกาศขององค์การอนามัยโลกมาแล้ว 6 เดือนโรคโควิด-19 ยังทุบเศรษฐกิจทั่วโลกได้อย่างไม่มีแววสิ้นสุด ประเทศที่หวังกอบกู้เศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวโดยเฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียนจำเป็นต้องจัดการอย่างเหมาะสมหากอยากได้เงินจากภาคส่วนนี้
ขณะนี้ทุกประเทศต่างต้องการเปิดพรมแดนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเร่งวางแผนให้ผู้คนกลับมาเดินทางได้อีกครั้ง แต่ถ้าเช็กเพื่อนบ้านสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ข้อมูลเมื่อต้นเดือน ก.ย.พบว่า ทุกประเทศยังปิดพรมแดนยกเว้นสิงคโปร์เท่านั้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นมา สิงคโปร์ค่อยๆ เปิดพรมแดนและทำข้อตกลงพิเศษที่เรียกว่า “กรีนเลน/ฟาสต์เลน” กับไม่กี่ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทำธุรกิจและติดต่อราชการ
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (11 ก.ย.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ร่วม สองประเทศเห็นชอบทำข้อตกลงกรีนเลนระหว่างกัน เริ่มต้นเดินทางอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ถือเป็นข้อตกลงกรีนเลนฉบับแรกที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศอื่น ที่จะช่วยฟื้นฟูการติดต่อและหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ทั้งนี้ ผู้เดินทางจะต้องตรวจโควิดทั้งก่อนออกเดินทางและเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง ช่วง 14 วันแรกที่ไปถึงจะต้องเดินทางตามกำหนดการอย่างเคร่งครัด
จากหลักการเห็นได้ว่าแม้สิงคโปร์จะยอมเปิดประเทศบ้างแล้ว แต่ก็เปิดให้เฉพาะนักธุรกิจและข้าราชการ ดังนั้นการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวคงต้องรอกันอีกสักพัก ระหว่างที่รอมีโจทย์ให้ต้องคิดต่อว่า การท่องเที่ยวในยุคที่โควิด-19 ยังอยู่กับเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากสภารการท่องเที่ยวและเดินทางโลกเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ระบุว่า ปี 2562 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ราว 12.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) อาเซียน จ้างงาน 13.3%
การท่องเที่ยวออนไลน์ที่เป็นฐานรากให้กับสตาร์ทอัพหลายหมื่นแห่งในภูมิภาค ตอนนี้ทำเงินถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2558-2562 การท่องเที่ยวออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตปีละ 15% แต่เมื่อเจอผลกระทบจากโควิด-19 เข้าไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีคนว่างงานราว 63 ล้านคน จีดีพีเสียหาย 1 ล้านล้านดอลลาร์ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 การท่องเที่ยวต่างประเทศย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง 10 ปีนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2552 ต้องสะดุดลง ดังนั้นก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะฟื้นตัวเต็มที่ภาคการท่องเที่ยวเองต้องปรับและเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
เว็บไซต์ phocuswire.com นำเสนอ 4 แนวทางที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงท่องเที่ยวออนไลน์ในอาเซียนต้องปรับตัวเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เริ่มต้นจาก
ฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศก่อน
การเดินทางและการท่องเที่ยวในประเทศ ธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่น และทริปพักผ่อนราคาสบายกระเป๋าเป็นส่วนแรกที่ต้องฟื้นฟูก่อน
ผลการวิจัยนักท่องเที่ยวทั่วโลกพบว่า 90% ของคนที่พร้อมเดินทางอยากเริ่มต้นเที่ยวในประเทศก่อน และการจะไปไหนต่อนั้นพวกเขาคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
รัฐบาลเวียดนาม สิงคโปร์ ไทย และญี่ปุ่นก็ทุ่มเทกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างหนัก สิงคโปร์เปิดตัวโครงการรณรงค์ 32.4 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
ไทยให้เงินอุดหนุนกระตุ้นการท่องเที่ยว 641 ล้านดอลลาร์ ส่วนเวียดนามตั้งแต่เดือน เม.ย. รัฐบาลมอบส่วนรถค่าโดยสารและเพิ่มเที่ยวบินในประเทศ สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว
ก่อนโควิิดระบาดแขกของโรงแรมในเอเชียแปซิฟิก 29% เป็นนักเดินทางในประเทศ แนวคิดนี้จึงกลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง หลักฐานบ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวในท้องถิ่นกำลังกลับมาเช่น จีนที่โควิดระบาดที่แรก จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้อยู่ที่ 50% ของระดับก่อนวิกฤติ
อัตราการเข้าพักโรงแรมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะนี้กลับมาสู่ระดับ 60% ของปี 2562 คาดว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศจะช่วยชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง แต่สำหรับบางประเทศแค่นี้เกือบไม่พอโดยเฉพาะในแง่ของรายได้จากเงินตราต่างประเทศ
ท่องเที่ยวภายในภูมิภาค
ในบรรดาภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่คุ้นเคยกับการรับมือโรคระบาดใหญ่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งประสบการณ์และประวัติการฟื้นตัวที่ดี
ความสำคัญของการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงอุตสาหกรรมการเดินทางเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในปี 2561 นักท่องเที่ยวอาเซียนคิดเป็น 45.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมาคือจีน 12.4% อันดับ 3 คือสหภาพยุโรป 8.5%
ในอนาคตความสำคัญของจีนอาจทำให้ตัวเลขพุ่งต่อไปอีก จีนเป็นประเทศแรกที่ไวรัสระบาดก็จริง แต่ก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ฟื้นตัว ผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมบริการ “C9 Hotelworks” ชี้ว่า นักเดินทางชาวจีน 53% กำลังวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้
การตกลงใช้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานสากลจะเป็นตัวเร่งให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคกลับคืนมา และรัฐบาลต่างหาหนทางทำ “ทราเวลบับเบิล” ให้นักท่องเที่ยวในประเทศที่กำหนดเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน
อายุน้อยเที่ยวก่อน
หลังวิกฤติโควิด นักท่องเที่ยวหนุ่มสาวเจนแซด มิลเลนเนียล นักท่องเที่ยวงบน้อย และที่ไม่ใช่กลุ่มครอบครัวจะกลับมาเดินทางเป็นกลุ่มแรก ตัวอย่างเช่น ในจีนช่วงวันเช็งเม้ง ซึ่งเป็นวันหยุดแรกหลังโควิดระบาด 60% ของคนที่จองการเดินทางเป็นกลุ่มคนอายุไม่ถึง 30 ปี เพิ่มขึ้นมากจาก 43% ในปีก่อน
ต่อไปผู้คนจะไม่ค่อยนิยมเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์มีมัคคุเทศก์กันแล้ว
ผลการศึกษาของบริษัทแม็คคินเซย์พบว่า นักเดินทางเพียง 10% เท่านั้นที่อยากจะเดินทางแบบกลุ่มใหญ่ ขณะที่ 68% บอกว่าไม่มีทางไปเที่ยวแบบนั้นเด็ดขาด ซัพพลายเออร์บางรายจึงหวังทำเงินกับนักเดินทางกระเป๋าหนักไปเลย
เร่งใช้ดิจิทัล-ระบบอัตโนมัติ
ระบบอัตโนมัติในภาคบริการจะมีความสำคัญต่อแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากแม้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วแต่ยังต้องเว้นระยะกันอยู่ โรงแรม บริษัททัวร์ บริษัทขนส่งจำเป็นต้องหาวิธีลดการสัมผัสระหว่างแขกกับพนักงานให้น้อยลง
เทคโนโลยีไร้สัมผัสจึงเป็นหัวใจของหลายๆ ธุรกิจ เช่น การนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้เป็นวงกว้าง แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่า จะนำระบบอัตโนมัติและดิจิทัลมาใช้ขนานใหญ่อย่างไรในราคาที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและผู้บริโภคเข้าถึงได้