‘ประชุม 75 ปี ยูเอ็น’ เวทีวิวาทะสหรัฐ-จีน
"ประชุม 75 ปี ยูเอ็น" ถือเป็นเวทีวิวาทะระหว่างผู้นำสหรัฐและผู้นำจีน และจีน ประกาศว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการปฏิรูปทุกด้านบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน
การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 75 ปี ซึ่งสถานการณ์โลกในขณะนี้กำลังเผชิญวิกฤติรอบด้าน ทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การค้าของสองยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐและจีน ทำให้เกิดคำถามว่า เลขาธิการยูเอ็นที่ต้องการความปรองดอง สมานฉันท์เพื่อทำให้โลกนี้มีสันติสุขจะรับมือกับสถานการณ์โลกขณะนี้อย่างไร
“อันโตนิโอ กูเตร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น เน้นเรียกร้องความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูกลไกพหุภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศขนาดเล็กร่วมกันผลักดันมาตลอด พร้อมทั้งกล่าวถึงบทสำคัญซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดขององค์กรตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการป้องกันการเกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ และการขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันต่อสู้กับวิกฤติความยากจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(เอสดีจี) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ 15 ปี จนถึงปี 2573
เนื่องจากโลกเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การประชุมครั้งนี้จัดผ่านระบบวีดีโอเป็นหลัก ซึ่งบรรดาผู้นำโลกส่วนใหญ่บันทึกถ้อยแถลงไว้ล่วงหน้า ตามรายชื่อของยูเอ็นที่มีทั้งหมด 182 คนในปีนี้ และเปิดคลิปวิดีโอตามลำดับ รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่ง
ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ใช้วิธีส่งถ้อยแถลงทั้งแบบคลิปและเป็นลายลักษณ์อักษร และมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า รัฐบาลปักกิ่งพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการปฏิรูปทุกด้านบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน แต่กิจการบนโลกนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยใช้วิธีไม่เป็นธรรม
ในที่ประชุมออนไลน์ของยูเอ็นครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐและจีน ได้แถลงตอบโต้กันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกที่ต้องการให้มีความปรองดองกันเพื่อร่วมฝ่าวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้ไปให้ได้ ช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์ ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า "ยูเอ็นต้องให้จีนรับผิดชอบการกระทำของตนเอง” โดยทรัมป์เชื่อว่า จีนทำให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก หลังจากพบเชื้อไวรัสดังกล่าวที่จีนเป็นประเทศแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิพากษ์วิจารณ์จีน และระบุว่าองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำลังถูกจีนครอบงำ โดยการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงการติดเชื้อจากคนสู่คนในช่วงที่ไวรัสเริ่มระบาด
หลังจากที่ฟังทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ด้วยการโจมตีจีนเสร็จ ประธานาธิบดีจีนก็เรียกร้องให้มีการสนับสนุนบทบาทในการดำเนินงานของดับเบิลยูเอชโอ ในฐานะแกนนำหลักเพื่อฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้
“ไม่สมควรที่จะรับฟังความพยายามที่จะโยงประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องการเมืองและการใส่ร้ายป้ายสี”ผู้นำจีน กล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่า จีน มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างสันติและเปิดกว้างต่อการร่วมมือกัน โดยไม่ได้มุ่งใช้อำนาจเพื่อรุกราน หรือขยายอิทธิพลแต่อย่างใด
“เราไม่ต้องการสู้รบไม่ว่าจะในสงครามเย็นหรือในสงครามร้อนกับประเทศใดๆ ก็ตาม” ประธานาธิบดีสี กล่าว ซึ่งประโยคนี้ของผู้นำจีนน่าจะช่วยคลายความกังวลที่หลายฝ่ายเกรงว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนจะนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 3 พ.ย. ทรัมป์เล่นงานจีนอย่างหนักโดยไม่อ่อนข้อให้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นกลยุทธในการเรียกคะแนนเสียง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ทั้งขึ้นภาษีจริงจัง แบนบริษัท อายัดทรัพย์ ตัดสิทธิฮ่องกง ส่งเรือเข้าทะเลจีนใต้ เดินเกมผูกพันธมิตร ไม่มีช่องให้จีนเจรจาได้เลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
การแถลงสุนทรพจน์ในวาระครบรอบ 75 ปีของยูเอ็นครั้งนี้จัดขึ้นในขณะที่หลายประเทศพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 31 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 960,000 ราย
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีจีน ยังใช้โอกาสกล่าวสุนทรพจน์ทางออนไลน์บนเวทียูเอ็น ประกาศว่า จีนตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ในปริมาณสูงสุดก่อนปี 2573 และจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสมดุลคาร์บอน (carbon neutrality) โดยจะลดการปล่อย CO2 ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603
“จีนจะยกระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Intended Nationally Determined Contributions - INDCs) ด้วยการบังคับใช้นโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ” สี กล่าว
ผู้นำจีน ตระหนักดีว่า ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ทั่วโลกเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาสีเขียว และการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับต่ำ
“ความตกลงปารีสระบุถึงมาตรการขั้นต่ำในการปกป้องโลก แผ่นดินบ้านเกิดร่วมของเรา และทุกประเทศจะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันไว้” สี กล่าว
สี ยังกล่าวด้วยว่า มนุษยชาติไม่อาจเพิกเฉยกับสัญญาณเตือนจากธรรมชาติได้อีกต่อไป และไม่อาจใช้ทรัพยากรโดยไม่มีการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยปราศจากการฟื้นฟู พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันการพัฒนาที่มีนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเปิดกว้าง โดยใช้โอกาสครั้งประวัติศาสตร์จากการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลังยุคโควิด-19