'ยูเอ็น' เรียกร้อง 'ไทย' เปิดให้ชุมนุมโดยสันติ-ปล่อยตัวผู้ประท้วงไร้เงื่อนไข
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ “ยูเอ็น” เรียกร้องรัฐบาลไทย อนุญาตให้มีการชุมนุมโดยสันติ และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมโดยไร้เงื่อนไข
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นหนึ่งในมาตรการรุนแรงล่าสุดที่มีเป้าหมายเพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสันติ และทำให้การแสดงความเห็นต่างเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้นักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาชนกลุ่มอื่นๆ สามารถจัดการชุมนุมประท้วงได้โดยสันติ ประชาชนชาวไทยควรได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นและแบ่งปันความเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ทั้งในโลกออนไลน์และในโลกแห่งความเป็นจริงโดยไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย”
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์นี้ ประกอบด้วย นายเคลมองต์ วูเล ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ, น.ส.ไอรีน ข่าน ผู้ตรวจการพิเศษด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และ น.ส.แมรี ลอว์เลอร์ ผู้ตรวจการพิเศษด้านสถานการณ์ของผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยถูกทางการจับกุมแล้วอย่างน้อย 80 คน ในจำนวนนี้ 27 คนยังคงถูกคุมขัง บางรายถูกตั้งข้อหากระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและจัดการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
ขณะที่บางคนถูกตั้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียชวนให้มวลชนออกมาร่วมชุมนุม ส่วนอีก 2 คนอาจต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต หลังถูกตั้งข้อหาประทุษร้ายต่อสมาชิกราชวงศ์
“เรามีความกังวลอย่างยิ่งเรื่องที่ผู้ร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสันติถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเราได้เคยแสดงความวิตกกังวลมาแล้วในอดีต”
แถลงการณ์ของคณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นมีขึ้นหลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ “ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ที่ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีผลตั้งแต่ เวลา 12.00 น. วันที่ 22 ต.ค. 2563
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเอง “โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข”
นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นยังกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ทางการใช้ “มาตรการฉุกเฉินที่รุนแรง” ต่อผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เช่น การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงในการสลายการชุมนุม ว่า หน่วยงานความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงโดยไม่จำเป็นต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ
“ความรุนแรงดังกล่าวมีแต่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์ลุกลาม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหาทางเจรจาอย่างเปิดกว้างและจริงใจกับพวกเขา แทนการพยายามปิดปากประชาชนที่มาชุมนุมโดยสันติ”