‘แก่ก่อนรวย’ ทางรอดของจีน
เมื่อจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยรวดเร็วที่สุดในโลก มีความกังวลว่าจะซ้ำรอยกับญี่ปุ่นที่ติดหล่มเศรษฐกิจนาน 30 ปี แม้เป็นสังคมที่แก่พร้อมรวย ขณะเดียวกันกลับมีแนวคิดที่เป็นทางรอดของจีนคือ สังคมแก่ก่อนรวย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? หาคำตอบได้ที่บทความนี้
หัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีน (ปี 2021-2025) ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปลายเดือน ต.ค.ก็คือ ปัญหาจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว
ในวงนโยบายของจีน ปริศนาหนึ่งที่ชอบหยิบยกมาพูดกันมากก็คือ ทำอย่างไรจีนจะไม่ซ้ำรอยญี่ปุ่น เพราะจีนในวันนี้ดูคล้ายกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 คือกำลังเผชิญความท้าทายทั้งค่าแรงและต้นทุนการผลิตภายในประเทศที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งเผชิญสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐ และอีกสิ่งที่เหมือนญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ก็คือสังคมจีนวันนี้กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว
จากทศวรรษ 1990 มาถึงวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดหล่ม 30 ปี คำถามคือจีนจะเดินซ้ำรอยญี่ปุ่นหรือไม่
อย่างน้อยในเรื่องสำคัญอย่างสังคมผู้สูงวัย ศ.เหยา หยาง แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีความเห็นที่เฉียบคมว่าจีนนั้นแตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เป็นสังคม “แก่พร้อมรวย” ขณะที่จีนในปัจจุบันเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย”
ผมฟังท่านแล้วก็ฉงนว่าจีนนี่ดูเหมือนวิกฤติยิ่งกว่าญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 เสียอีก คล้ายๆ กับไทย นักวิชาการไทยชอบพูดกันว่าไทยกำลัง “แก่ก่อนรวย” เราชราเช่นเดียวกับประเทศรวย ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่ ศ.เหยา หยาง เสนอว่าการที่จีน “แก่ก่อนรวย” ต่างหากที่ทำให้จีนมีโอกาสมหาศาลที่จะไม่ติดหล่มเศรษฐกิจหยุดชะงักดังเช่นญี่ปุ่น
เพราะ “แก่ก่อนรวย” ทำให้จีนยังมีช่องว่างที่จะเติบโตต่อไปเหลืออยู่ โดยการพยายามยกระดับคนยากจนขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางและขึ้นมาเป็นพลังการบริโภคระลอกใหม่ รวมทั้งการแปลงชนบทเป็นเมือง ในขณะที่ญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ได้เข้าสู่การเป็นสังคมเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว จีนในวันนี้ยังต้องผ่านกระบวนการสร้างเมือง (urbanization) อีกระยะเวลาหนึ่ง
จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลจีนมีนโยบายการสร้างคลัสเตอร์เมืองเพื่อเชื่อมโยงขุมพลังของเมือง และสร้างเมืองใหม่เพื่อเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ มีสถิติน่าสนใจว่าในสหรัฐมีเมืองที่มีขนาด 1 ล้านคน จำนวน 12 เมือง แต่ในจีนปัจจุบันมีเมืองที่มีขนาด 1 ล้านคน ถึง 167 เมือง และกำลังจะขยายเป็น 300 เมืองในช่วงเวลา 5 ปี
จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยรวดเร็วที่สุดในโลก อันเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ส่งผลให้โครงสร้างประชากรจีนบิดเบี้ยวอย่างสาหัส แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมเมืองรวดเร็วที่สุดเช่นกัน กระบวนการสร้างเมือง (urbanization) ของจีนทั้งเร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะจีนต้องเน้นการเติบโต เพื่อแก้ปัญหาชราวัย
แผนพัฒนาฉบับใหม่จะมีบทที่กล่าวถึงการรับมือสังคมผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ซึ่งในขณะนี้รายละเอียดยังไม่ชัดเจน เราจะได้เห็นแผนฉบับเต็มในช่วงต้นปีหน้าภายหลังจากที่ผ่านการพิจารณาจากสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ในขณะนี้มีการคาดหมายว่าจะมีการกล่าวถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมผู้สูงวัย รวมทั้งการปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยด้วย
ธีมหลักที่สำคัญอันหนึ่งของจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนก็คือ “เศรษฐกิจผู้สูงวัย” (Silver Economy) โดยเน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่คาดหมายกันว่าจะเติบโตและได้รับการพัฒนาอย่างมโหฬารในรอบ 5 ปี ต่อจากนี้ก็คือภาคสุขภาพ เพราะมีเงินลงทุนไหลเข้าไปในภาคเศรษฐกิจนี้มหาศาลตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิดเป็นต้นมา และยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับสังคมผู้สูงวัยในระยะยาวด้วย
ปัญหาความกดดันจากสังคมผู้สูงวัยยังเป็นตัวเร่งความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน นี่อาจเป็นอีกจุดหนึ่งที่จีนในวันนี้ต่างจากญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ 1990 เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5.0 ดังนั้น จีนสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ หรือเลิกอุตสาหกรรมการผลิตดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วในอดีต
เราอาจมองสังคมผู้สูงวัยเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสควบคู่กัน วิกฤติเพราะส่งผลต่อจำนวนแรงงานวัยทำงานและผลิตภาพแรงงาน ดังที่มีรายงานว่า ถึงปี 2050 แรงงานจีนจะหายไป 200 ล้านคน แต่โอกาสก็มีอยู่เช่นกัน หากผู้สูงวัยมีเงินเก็บมากพอ ก็จะเป็นขุมพลังการบริโภคยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวที่ยังต้องทำงานเก็บเงินอยู่ รวมทั้งเศรษฐกิจผู้สูงวัยสามารถเป็นจุดเติบโตใหม่ของจีน สอดรับกับตลาดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเทรนด์สังคมผู้สูงวัยในหลายประเทศ
โอกาสจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ย่อมอยู่ที่จีนสามารถใช้ประโยชน์จาก “แก่ก่อนรวย” ได้ดีเพียงใด โดยสามารถยกระดับรายได้ประชาชนและคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่นั่นเอง