ร่วมสร้างความตระหนักรู้'สิทธิมนุษยชน'หลังโควิด
อียู กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และยูเอ็น ร่วมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในโลกหลังโควิด เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน 2563
คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนเพื่อสะท้อนความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการหารืออย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กิจกรรมแรกจะจัดขึ้นที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพในวันที่ 7-8 ธันวาคม ภายใต้แนวคิด “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” แนวคิดนี้มาจากวาระการครบรอบ 70 ปีของการประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชน เพื่อรำลึกถึงการถือกำเนิดของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในวันนี้เมื่อปี 2491 กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการประชาสัมพันธ์ต่างๆ
ในงานนี้ หลักการพื้นฐานของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ จะถูกนำเสนอผ่านการแสดงร่วมสมัยชื่อว่า “7” ซึ่งได้รับการรังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษโดยคุณพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินนักเต้นโขนและนักเต้นร่วมสมัยไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นอกจากผู้ชมจะได้รับรู้อุปสรรคที่ทำให้คนชายขอบบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพของเขาได้อย่างเต็มที่แล้ว คุณพิเชษฐและคณะนักเต้นยังจะชักชวนให้ผู้ร่วมงานตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อท้าทายในสังคมปัจจุบันด้วย
กิจกรรมที่สองคือ “Recover Better – Stand Up for Human Rights” นิทรรศการภาพถ่ายและการเล่าเรื่อง ซึ่งจัดในวันที่ 10 ธันวาคม โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ในนิทรรศการดังกล่าว บุคลากรระดับแถวหน้าของภาคประชาสังคมซึ่งมุ่งผลักดันให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะนำเสนอเรื่องราวผ่านภาพถ่ายเกี่ยวกับผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อกลุ่มประชากรผู้อยู่ในข่ายเปราะบางมากที่สุด
“เราภูมิใจที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งสองนี้ เพราะเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องเดียวกันแต่ในหลายแง่มุม” ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว
“กิจกรรมแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อท้าทายแง่มุมบางอย่างในสังคมที่ทำให้พวกเราบางคนยอมรับว่าการเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มนั้นเป็นเรื่องปกติ ประเด็นนี้มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน เพราะกลุ่มประชากรที่อยู่ในข่ายเปราะบางและมักจะถูกกีดกันเป็นปกตินั้นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่สองนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไปประกอบการวางนโยบายต่างๆ ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาด เพื่อให้แน่ใจว่าประชากรที่อยู่ในข่ายเปราะบางจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
ตลอด 70 ปีของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับจากทั้งหมด 9 ฉบับ โดยที่สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับนั้น ให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม คุ้มครองสตรีและกลุ่ม
ชาติพันธุ์จากการเลือกปฏิบัติ ปกป้องสิทธิเด็กและสิทธิคนพิการ รวมถึงคุ้มครองพลเมืองจากการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หลักการเหล่านี้บางส่วนได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทยแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังมีสภาพเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มวางแผนงานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นั้น การนำสถานการณ์ที่กลุ่มคนชายขอบต้องเผชิญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูประเทศก็ยิ่งมีความจำเป็นมากกว่าเดิม
“การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในยามปกติหรือในช่วงหลังวิกฤตโลก” ท่านทูตเปียร์ก้ากล่าว “ประสบการณ์ของเราในยุโรปสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งยกย่องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้น มักจะประสบความสำเร็จทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าประชากรในประเทศอื่นๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ เราคิดว่าประเด็นนี้ยิ่งมีความสำคัญมากกว่าเดิม”
สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มบนพื้นฐานของความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้ สิทธิมนุษยชนจึงกลายมาเป็นวาระสำคัญวาระหนึ่งของการดำเนินงานของสหภาพยุโรปในเวทีโลก ในประเทศไทยนั้น ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากสหภาพยุโรปเป็นกำลังสนับสนุนอันสำคัญสำหรับโครงการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อันมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการนำกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่างๆ ของสหประชาชาติไปใช้ให้บรรลุผล นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังสนับสนุนโครงการขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติและบุตรหลานของพวกเขา รวมทั้งเพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและทำให้การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานหญิงข้ามชาติมีความปลอดภัยมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติทางธุรกิจซึ่งคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ สหภาพยุโรปได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลากหลายกลุ่ม ความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างทั้งสององค์กรเพื่อรำลึกถึงวันสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การจัดสัมมนาเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้ทุพพลภาพ งานวิ่งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนนิทรรศการศิลปะสื่อผสม “The Art of Human Rights” ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความสนใจให้แก่ผู้คนราว 6,000 คนในเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
“เราได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้มีความก้าวหน้าและการดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะชน ซึ่งในจุดนี้ต้องขอขอบคุณความร่วมมือที่เรามีกับสหภาพยุโรป” นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าว “การเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง 7 ฉบับนั้นเป็นพัฒนาการที่ไทยสามารถมองย้อนกลับไปได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะมันเป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของเราในด้านสิทธิมนุษยชน แต่เป้าหมายสูงสุดของเราก็คือการทำให้พันธกรณีระหว่างประเทศเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมและวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน”