‘ขนจิ้งจอก’ทางเลือกแทน‘มิงค์’เดนมาร์ก

การที่เดนมาร์กฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัวเพื่อล้างบางเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ุ เมื่อเดือน พ.ย.ทำให้ธุรกิจขนสัตว์ปั่นป่วน ผู้ค้าคาดว่าแบรนด์แฟชั่นอย่างหลุยส์วิตตอง ดิออร์ และเฟนดิเตรียมใช้ขนสุนัขจิ้งจอกและคินคิลลาแทน
สมาพันธ์ขนสัตว์ระหว่างประเทศ (ไอเอฟเอฟ) เผยว่า การค้าขนสัตว์โลกที่มีมูลค่าปีละกว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ กำลังซวนเซจากการตัดสินใจของเดนมาร์ก ที่เป็นผู้ส่งออกขนมิงค์อันดับ 1 ของโลก จนกังวลกันว่าขนมิงค์จะขาดแคลน
ตอนนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่ฟินแลนด์ ที่สัปดาห์หน้าจะป้อนขนสุนัขจิ้งจอก 250,000 ผืนและมิงค์อีก 1 ล้านผืนให้กับลูกค้าในเกาหลี จีน สหรัฐ และที่่อื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.บริษัทประมูลซากาเฟอร์ ถ่ายทอดสอดการเปิดขายขนสัตว์นานาชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดนมาร์กฆ่ามิงค์ครั้งใหญ่
ซากาเฟอร์ คาดว่าจะขายขนสัตว์ทั้งหมดที่ีมีได้ จากที่ขายไปได้เพียง 55% ในปีนี้
“ตลาดจะแข็งแกร่ง ราคาที่สูงขึ้นจะช่วยพยุงธุรกิจเราไปได้ ลูกค้าสอบถามเรื่องสุนัขจิ้งจอกเพิ่มขึ้นมาก ถ้าผู้คนมองว่าไม่มีขนมิงค์ ก็ต้องหาอย่างอื่นแทน” แมกนัส ยุง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซากาเฟอร์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมขนสัตว์ที่ราคาร่วงมาหลายปี
เฮเลน วาเลด ประธานฝ่ายยั่งยืนของแอลวีเอ็มเอช กลุ่มบริษัทสินค้าหรูจากฝรั่งเศสเจ้าของแบรนด์หลุยส์วิตตอง ดิออร์ และเฟนดิ ซื้อเฟอร์จากฟินแลนด์ผ่านนายหน้ากล่าวในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทใช้มิงค์ สุนัขจิ้งจอก และแรคคูนฟินแลนด์ที่มีใบรับรอง 100% เท่านั้น
ลิซ สคอฟ นักวิชาการผู้วิจัยอุตสาหกรรมเฟอร์เดนมาร์กกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ความต้องการเฟอร์ลดลงมาตั้งแต่ทศวรรษ 50 เพิ่งมาเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2543-2556 ที่แบรนด์เสื้อผ้านำมาเดินแบบบนรันเวย์ และชาวจีนคลั่งไคล้เสื้อผ้าขนสัตว์ราคาแพง
ในการประมูลเมื่อปี 2556 หนังมิงค์ขายได้ผืนละกว่า 90 ดอลลาร์ แต่ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ราว 30 ดอลลาร์ ทั้งๆ ที่การผลิตของทั่วโลกลดลงปีก่อนเหลือไม่ถึง 60 ล้านผืน จากกว่า 80 ล้านผืนในปี 2557
ยูโรมอนิเตอร์คาดการณ์ว่า ปีนี้มูลค่าขนสัตว์และผลิตภัณฑ์ขนสัตว์ ทั้งเฟอร์แท้และเฟอร์ปลอมจะลดลง 2.6%
สหกรณ์ผู้เพาะพันธุ์มิงค์เดนมาร์กกลุ่มหนึ่ง ที่เคยขายหนังมิงค์ได้ 25 ล้านผืน หรือ 40% ของทั้งโลกเมื่อปีก่อน กำลังตัดสินใจขายแบรนด์และสินทรัพย์อื่นๆ หลังจากประกาศว่าจะค่อยๆ ปิดกิจการภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
เจสเปอร์ ลาวจ์ คริสเตนเซนซีอีโอโคเปนเฮเกนเฟอร์ กล่าวว่า ลูกค้าชาวจีนสนใจขอซื้อกิจการประมูลเฟอร์เข้ามาก ซึ่งราคาอาจสูงถึง 163 ล้านดอลลาร์
บริษัทยังมีแผนขายหนังสัตว์ราว 25 ล้านผืนในสองปีข้างหน้าจากฟาร์มเดนมาร์กที่ไม่ติดไวรัส รวมทั้งหนังสัตว์แช่เย็น และสัตว์จากต่างประเทศ
ด้านนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์หวังว่า การล่มสลายของเดนมาร์ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในประเทศ จะยุติอุตสาหกรรมขนสัตว์ และความต้องการสินค้าจำพวกที่ใช้ขนสัตว์ เช่น ของกระจุกกระจิกชิ้นละ1,700 ดอลลาร์ เสื้อกั๊กเฟอร์ตัวละ 16,000 ดอลลาร์ เสื้อโค้ทขนเฟอร์ตัวละ 60,000 ดอลลาร์ ของพวกนี้จะหายไป
ปัจจุบันหลายประเทศและหลายรัฐห้ามทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เอาขนหรือสินค้าขนสัตว์แล้ว เช่น อังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ อิสราเอล และแคลิฟอร์เนีย
พีเจ สมิธ ผู้อำนวยการนโยบายแฟชั่น สมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ กล่าวว่า แบรนด์ที่ยังคงใช้เฟอร์จริงจะเลิกใช้ในไม่ช้า ตามรอยกุชชี่ พราดา อาร์มานี และอื่นๆ
แต่สำหรับตอนนี้ คริสเตนเซนจากโคเปนเฮเกนเฟอร์ กล่าวว่า แบรนด์แฟชั่นในยุโรปต่างแสดงความกังวลว่า จะไม่สามารถหาขนมิงค์คุณภาพเทียบเท่ามิงค์เดนมาร์กได้
“ความท้าทายใหญ่สุดอันหนึ่งจากมุมมองของแบรนด์คือ คุณภาพขนมิงค์เดนมาร์กที่ไม่เหมือนใครจะหายไปจากคอลเลคชัน และคุณไม่สามารถหาสินค้านั้นจากที่อื่นได้อีก” คริสเตนเซนย้ำ ส่วนตัวเขาเองก็หาทางขายเครื่องมือ เช่น เครื่องจักรแยกเกรดหนังอัตโนมัติ
ถ้าพูดถึงลูกค้าเฟอร์เดนมาร์ก รัสเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่สุด ตามด้วยจีนที่แม้เลี้ยงมิงค์ด้วยแต่มองว่า มิงค์ของตนมีคุณภาพต่ำกว่ามิงค์เลี้ยงในยุโรป ที่มีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสูงกว่า
“เราจะไม่เลือกเฟอร์จีนเพราะคุณภาพไม่ดี” จาง ฉางปิง เจ้าของบริษัทฟังไท่เฟอร์ของจีนกล่าวกับรอยเตอร์ และว่า บริษัทซื้อเฟอร์มากพอใช้ได้ไปจนถึงครึ่่งแรกของปี 2564 เป็นอย่างน้อย และถ้าในอนาคตเดนมาร์กจัดหามิงค์ให้ได้ไม่มากพอ ฟังไท่จะย้ายไปประมูลในฟินแลนด์แทน
นิกโคโล ริชชี ซีอีโอแบรนด์Stefano Ricci ของอิตาลี ที่มีลูกค้ามากมายในรัสเซียและยุโรปตะวันออก คาดว่า ราคามิงค์จะเพิ่มขึ้นมากถึง 50% แต่แบรนด์ไฮเอนด์อย่างเขาจะหาหนังคุณภาพสุดยอดต่อไป ส่วนใหญ่มาจากซัพพลายเออร์สหรัฐ
“การขาดแคลนจริงๆ น่าจะเริ่มจากปี 2566 แต่เมื่อถึงเวลานั้นเราก็หวังว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์ในแคนาดา โปแลนด์ อเมริกา และกรีซและเพิ่มผลผลิตมาทดแทนมิงค์เดนมาร์กได้" มาร์ก โอเทน ประธานไอเอฟเอฟกล่าวและคาดว่า รัสเซียและจีนจะเพิ่มผลผลิตด้วยเช่นกัน
"นอกจากนี้ผู้คนยังมองหาขนสัตว์ชนิดอื่นด้วย สุนัขจิ้งจอกได้รับความนิยมมากสำหรับใช้ตกแต่ง เช่น ตกแต่งเสื้อคลุม ขนสัตว์ป่าก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างตัวคินคิลลา” ประธานไอเอฟเอฟกล่าวทิ้งท้าย