จาก ‘สมุทรสาคร’ ถึง ‘ปักกิ่ง’ ถอดบทเรียนสกัดโควิด-19 ในตลาดสดใหญ่
จากกรณีพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายร้อยคนในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้นึกถึงกรณีคล้ายกันที่ตลาด "ซินฟาตี้" ในกรุงปักกิ่งของจีน ซึ่งเคยเผชิญโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่แบบกลุ่มก้อนเช่นกัน คำถามที่น่าสนใจคือ ปักกิ่งคลี่คลายสถานการณ์อย่างไร
ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. “โควิด-19” กลับมาระบาดในกรุงปักกิ่งอีกครั้งหลังจากแทบไม่พบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นเลย และครั้งนี้เกิดขึ้นในตลาดค้าส่ง “ซินฟาตี้” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหลวง ซึ่งมีแรงงานกว่า 1 หมื่นคนทำงานเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายผักและผลไม้ 90% ในตลาด
เกิดกระแสความหวาดกลัวเพิ่มขึ้นทั่วเมือง เช่นเดียวกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เกือบ 400 รายในตลาดซินฟาตี้ในช่วงเวลา 1 เดือน แต่ภายใน 26 วัน ทางการปักกิ่งก็รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในท้องถิ่นเป็น 0 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในปีปฏิทินนี้ที่เมืองหลวงซึ่งมีประชากร 21 ล้านคนเอาชนะโควิด-19 ได้สำเร็จ
แล้วปักกิ่งมีวิธีจัดการอย่างไร และมีสิ่งที่จ.สมุทรสาครสามารถเรียนรู้ได้หรือไม่
- ตรวจเชื้อเชิงรุก
ขณะนั้น รัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่งใช้กลยุทธ์กักกันโรคที่ถูกเรียกว่า “การทำสงครามกับโควิด” ด้วยการตรวจเชื้อประชาชนเชิงรุกและการล็อกดาวน์เชิงยุทธศาสตร์
มีการตั้งจุดตรวจเชื้อโควิดหลายแห่งทั้งที่โรงพยาบาล ทางเข้าที่จอดรถ สนามกีฬา และศูนย์กลางชุมชนต่าง ๆ ขณะที่พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกจ้างร้านอาหาร และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่ถูกกำหนดให้ต้องตรวจเชื้อโควิดทุกคน
ส่วนประชาชนทั่วไปที่เคยไปพื้นที่ใกล้เคียงกับตลาดซินฟาตี้ภายในช่วงเวลาที่มีการระบาดหรือช่วงที่ทางการมองว่ามีความเสี่ยง จะได้รับข้อความอัตโนมัติทางมือถือขอให้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโดยทันที
นอกจากนี้ พลเมืองที่จะออกจากรุงปักกิ่งต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด “เป็นลบ” ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง
จีนอาศัยการตรวจเชื้อประชาชนแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยเวลาอันรวดเร็วเพื่อควบคุมการระบาดรอบใหม่ และเคยทำสถิติตรวจเชื้อแบบสว็อบ (Swab) ประชาชนรวดเดียว 1.1 ล้านคนภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์มาแล้ว
ทางการจีนเผยว่า ประเทศมีความสามารถในการตรวจเชื้อโควิดวันละ3.8 ล้านตัวอย่างทั่วประเทศซึ่งถือว่าเร็วที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากนี้ จีนยังประสบความสำเร็จเรื่องความเร็วจากการใช้การทดสอบแบบกะ (batch testing) ซึ่งสามารถประเมินผลตรวจเชื้อหลายตัวอย่างได้ในครั้งเดียว
- ตลาดสดต้นตอระบาดรับมืออย่างไร
มาตรการล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ย. ตลาดซินฟาตี้ประกาศระงับการจัดเก็บและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แช่แข็งและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หลังจากมีรายงานการติดโรคโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์แช่แข็งนำเข้าในหลายเมืองและมณฑลของจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ตลาดซินฟาตี้ระบุว่า มีการโยกย้ายผลิตภัณฑ์แช่แข็งและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดออกจากโกดังสินค้าแช่เย็นของตลาด ก่อนจะตัดไฟและดำเนินการฆ่าเชื้อโรคภายในโกดังดังกล่าว โดยมาตรการเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าเนื้อหมูสด
ขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารตลาดได้ขึ้นทะเบียนและตรวจสอบโกดังและตู้แช่ผักผลไม้ทั้งหมดแล้ว
ซินฟาตี้เป็นตลาดค้าส่งผักสดขนาดใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ซึ่งเคยถูกสั่งปิดชั่วคราวเนื่องจากตรวจพบการแพร่ระบาดอีกระลอกของโรคโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. และกลับมาเปิดทำการเต็มรูปแบบอีกครั้งในวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากซินหัวระบุว่า ตลาดซินฟาตี้เป็นแหล่งค้าขายพืชผักราว 70% เนื้อหมู 10% เนื้อวัวและเนื้อแกะ 3% ของปักกิ่ง ก่อนจะถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. หลังจากปักกิ่งเริ่มตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในตลาดค้าส่งซินฟาตี้ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. คิดเป็นจำนวน 335 ราย
- ล็อกดาวน์เข้มบางจุด
ขณะที่ประเด็นการล็อกดาวน์ เนื่องจากกรุงปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการเงินและการเมืองของจีน ทางการจึงไม่สั่งล็อกดาวน์ทั้งเมือง แต่พุ่งเป้าล็อกดาวน์เฉพาะโซนอพาร์ตเมนต์และที่พักซึ่งอยู่ใกล้เคียงตลาดซินฟาตี้
ในพื้นที่เหล่านี้ ทางการอนุญาตให้สมาชิกเพียงคนเดียวของแต่ละครัวเรือนออกไปซื้อของใช้จำเป็นได้ ขณะที่โรงเรียนและสถานบันเทิงใกล้เคียงตลาด ต่างถูกสั่งปิด
อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบสนองเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เช่นกัน แม้ในกรณีปักกิ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะเต็มใจให้ความร่วมมือกับทางการ เพราะทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น แต่สุดท้ายก็สามารถฟันฝ่าจนผ่านมาได้ (อีกครั้ง)