หนังเล่าโลก: Hidden Figures -ครั้งแรกของผู้หญิงผิวสี
หนังเล่าโลกวันนี้ตั้งใจเขียนขึ้นในวาระที่โจ ไบเดน สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยมีคามาลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีหญิงและรองประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของผู้หญิงผิวสี
Hidden Figures ภาพยนตร์ปี 2559 ผลงานการกำกับของ Theodore Melfi บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงแอฟริกันอเมริกัน 3 คนที่ทำงานอยู่ในองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ในช่วงทศวรรษ 60 ที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตไม่ได้ครอบคลุมแค่ผืนพิภพเท่านั้นแต่ยังขยายไปถึงห้วงอวกาศ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการไปให้ถึงอาณาเขตใหม่นี้ให้ได้ก่อน
โซเวียตส่งนักบินอวกาศออกไปโคจรนอกโลกและกลับมาอย่างปลอดภัยได้แล้ว สหรัฐก็ต้องส่งยานอวกาศไปโคจรรอบโลกให้ได้เช่นกัน แรงกดดันจึงตกอยู่ที่นาซา หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
ภารกิจหนักหน่วงถูกกระจายไปยังบุคลากรทุกระดับรวมทั้งนักคณิตศาสตร์ที่มีผู้หญิงผิวดำร่วมอยู่ด้วยหลายคน ระดับแกนนำได้แก่ แคทเธอรีน จอห์นสัน นักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการคำนวณฟิสิกส์ แมรี แจ็คสัน นักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านงานวิศวกรรม และโดโรธี วอห์น หัวหน้านักคณิตศาสตร์ผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ ทั้ง 3 คนทำงานต่างแผนกแต่สนับสนุนกันและสำคัญอย่างยิ่งต่อภารกิจของนาซา
ถ้ามองบรรยากาศของหนังช่วงทศวรรษ 60 ในบริบทการเมืองระหว่างประเทศแน่นอนว่า สหรัฐกำลังแข่งขันกับโซเวียตในทุกเรื่อง แต่บรรยากาศในประเทศนั้นทศวรรษ 60 เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองในอเมริกาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 50 ภายใต้การนำของสาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำการเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง เรียกร้องโอกาสและความเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกหรือกีดกันสีผิว
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกมือปืนผิวขาวลอบสังหารในวันที่ 4 เม.ย.2511 ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ขณะกำลังเดินทางไปช่วยพนักงานเก็บขยะ ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียม
เหตุอุกอาจสร้างความเจ็บแค้นให้กับชาวอเมริกันผิวดำจนกลายเป็นเหตุจลาจลในกรุงวอชิงตันและ 110 เมืองทั่วประเทศ ภาพความโกลาหลแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมาในการประท้วง Black Lives Matter (BLM) ชนวนเหตุจาก “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวอเมริกันผิวดำต้องเสียชีวิตเพราะน้ำมือของตำรวจผิวขาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งเรื่องสีผิวในสหรัฐมีมานานแล้ว แต่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีทัศนคติเชิดชูความเหนือกว่าของคนผิวขาวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อการประท้วง BLM เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์จึงพ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดนไปในที่สุด
และเพื่อเยียวยาความขัดแย้งของคนในชาติ ไบเดนตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความหลากหลาย มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นแอฟริกันอเมริกันคนแรก รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นคนพื้นเมืองคนแรก รัฐมนตรีการเคหะและพัฒนาชุมชนหญิงแอฟริกันอเมริกันคนแรก และอีกหลายๆ คน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรก อนาคตอาจไปไกลถึงประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรกด้วยก็ได้
ดูหนังและอ่านประวัติศาสตร์ช่วยให้ตระหนักว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการร้องขอกราบกราน ทั้งหมดนี้ได้มาเพราะการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนที่ได้แผ้วถางทางให้คนรุ่นหลัง จากแคทเธอรีน จอห์นสัน, แมรี แจ็คสัน และโดโรธี วอห์น มาถึงคามาลา แฮร์ริส และอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกบันทึกชื่อไว้
พวกเธอร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์แห่งความเสมอภาคทั้งในสหรัฐและทั่วโลก แต่การเดินทางบนถนนแห่งความเสมอภาคยังไม่สิ้นสุด พวกเราคงต้องสานต่อภารกิจของเหล่า Hidden Figures สร้างสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป แม้จะเป็นเพียงคนเล็กคนน้อยผู้ไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ตาม