สำรวจทางเลือกสหรัฐ‘คว่ำบาตรเมียนมา’
สำรวจทางเลือกสหรัฐ‘คว่ำบาตรเมียนมา’
การรัฐประหารของกองทัพเมียนมาได้ส่งผลสะเทือนไปไกลถึงครึ่งโลก กลายเป็นวิกฤติใหญ่ด้านการระหว่างประเทศที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐต้องเผชิญเป็นครั้งแรก เขาอาจออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ตัดการช่วยเหลือ หรือเล่นงานเหล่านายพลเมียนมาและบริษัทของนายพลเพื่อกดดันให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐจะตอบโต้ด้วยวิธีใดถือเป็นบททดสอบแรกๆ ของไบเดน ที่เคยให้คำมั่น 2 ประการว่า นโยบายต่างประเทศของเขาจะยึดสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญ และร่วมมือกับพันธมิตรให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) ไบเดนให้คำมั่นว่า “จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย” และขู่ว่าจะคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง หลังจากอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาค่อยๆ ยกเลิกเพราะการปฏิรูปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาคืบหน้า นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวหลายคนตลอดระยะเวลา 10 ปี
“การถอยหลังความคืบหน้านั้นทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจการคว่ำบาตรเสียใหม่ แล้วจะมีการกระทำที่เหมาะสมตามมา” แถลงการณ์ไบเดนระบุ
รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเล่นงานผู้นำทหาร 4 นาย รวมถึงนายพลอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กดขี่ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน จนต้องหนีตายเข้าไปบังกลาเทศ
ปีเตอร์ คูซิค อดีตที่ปรึกษาอาวุโสเรื่องมาตรการคว่ำบาตรจากกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า ไบเดนอาจออกคำสั่งฝ่ายบริหารประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ โดยอ้างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา แล้วออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่
แต่ผู้สนับสนุนธุรกิจสหรัฐในเมียนมารายหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แย้งว่า บางธุรกิจที่ต้องการคงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาอาจไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตร เหล่านักลงทุนสนับสนุนให้เล่นงานผู้ก่อรัฐประหารและคนที่ทหารตั้งเป็นรัฐมนตรีมากกว่า เพื่อส่งสัญญาณว่ารัฐบาลใหม่ของเมียนมาไม่มีความชอบธรรม
ขณะที่อดีตเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สหรัฐมีเครื่องมือจัดการเหล่านายพลเมียนมาอย่างจำกัด คนกลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์กับบริษัทท้องถิ่นอันทรงอำนาจ แต่แทบไม่มีผลประโยชน์ในต่างประเทศให้ได้รับผลกระทบเลยหากถูกคว่ำบาตรทางการเงิน
ขณะนี้ยังมีการหารือกันเรื่องประสิทธิผลของการคว่ำบาตรนายพลเมียนมาที่สหรัฐเคยทำมาด้วย นายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ถูกสหรัฐเล่นงานไปเรียบร้อยแล้วตามกฎหมายความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกของแมกนิตสกี
หลายคนโต้แย้งว่า พวกเขาแทบไม่สะเทือน ส่วนคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชนเมียนมา
“การเพิ่มแรงกดดันกองทัพเมียนมาไม่ได้แก้ปัญหา การทูตที่มีทักษะและต่อเนื่องทั้งระดับทวิภาคีและร่วมมือกับพันธมิตรเท่านั้นที่จะถอดสลักวิกฤตินี้ และกำหนดเส้นทางกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปในเมียนมาได้” แดเนียล รัสเซลส์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศแผนกเอเชียตะวันออกสมัยรัฐบาลโอบามาให้ความเห็น
ขณะเดียวกันกลุ่มนักเคลื่อนไหว เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประสานเสียงเรียกร้องให้ไบเดนเล่นงาน 2 บริษัทใหญ่ของกองทัพเมียนมา ได้แก่ เมียนมาอีโคโนมิกโฮลดิงส์ลิมิเต็ด (เอ็มอีเอชแอล) และเมียนมาอีโคโนมิกคอร์ป (เอ็มอีซี) ที่มีบริษัทโฮลดิงมากมายลงทุนหลากหลายสาขา เช่น ธนาคาร อัญมณี ทองแดง โทรคมนาคม และเสื้อผ้า
เคลลี คูรี ทูตสหรัฐว่าด้วยปัญหาผู้หญิงสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้มีบทบาทอย่างมากต่อนโยบายเมียนมาในสมัยนั้นกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการคว่ำบาตรบริษัทของทหารเมียนมาตามกฎหมายแมกนิตสกีในปี 2561 ตอบโต้การกระทำรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ กระทรวงการคลังควรจะหยิบมาสานต่อได้ทันทีสืบเนื่องจากการรัฐประหารในเมียนมา
ทางเลือกอื่นที่ไบเดนทำได้คือ คว่ำบาตรเพิ่มเติมตามกฎหมายแมกนิตสกี ยึดทรัพย์สินในสหรัฐของกลุ่มนายพลและบริษัทเมียนมา ห้ามคนอเมริกันทำธุรกิจด้วย หรือไบเดนอาจจะรื้อฟื้นอำนาจคว่ำบาตรตามกฎหมายหยก ปี 2551 ที่มุ่งเล่นงานคณะรัฐประหารเมียนมาแต่ถูกโอบามายกเลิกไปในปี 2559 นอกจากนี้รัฐบาลวอชิงตันอาจห้ามเจ้าหน้าที่เมียนมาและครอบครัวเดินทางมาสหรัฐด้วย
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา ทั้งไบเดนและแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่างประณามการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาแต่ไม่ได้เรียกว่ารัฐประหาร เพราะถ้าพูดแบบนั้นตามกฎหมายสหรัฐต้องหมายถึงการตัดเงินช่วยเหลือที่สหรัฐมีให้กับเมียนมารวม 606.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 รวมถึงเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและบรรเทาภัยพิบัติ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐรายหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ในเมียนมามีแนวโน้มเป็นการรัฐประหาร แต่กระทรวงกำลังวิเคราะห์ด้านกฎหมายและข้อเท็จจริงก่อนประเมิน
ด้านธนาคารโลกแถลงว่า การรัฐประหารทำลายโอกาสการพัฒนาและความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งยังมีความเสี่ยงทางการเมืองเมื่อคณะทหารควบคุมความมั่นคงภายในประเทศอย่างเข้มงวดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอาจถูกปราบปรามรุนแรง เศรษฐกิจที่เพิ่งตั้งไข่และการจ้างงานอาจเสียหาก หากนักลงทุนต่างชาติไม่แน่ใจเรื่องเสถียรภาพในประเทศแล้วไม่กล้ามาลงทุน โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญถูกระงับหรืออาจยกเลิกไปเลย ถ้าทุนเอกชนหรือภาครัฐได้รับผลกระทบ