เปิดโรงงาน 'ซิโนแวค' ชมเบื้องหลังการผลิต 'วัคซีนเชื้อตาย'
ต้อนรับการมาของวัคซีน "ซิโนแวค" ที่มีกำหนดถูกส่งจากจีนถึงไทยวันนี้ (24 ก.พ.) ไปชมกระบวนการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของบริษัทจีนรายนี้ "ตั้งแต่ต้นจนจบ" กว่าจะได้วัคซีนแต่ละโดสต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง
หลังจากโรค โควิด-19 อุบัติขึ้นและแพร่ระบาดทั่วโลกอย่างรวดเร็วเมื่อปลายปี 2562 จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 110 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน และนำหายนะอันมิอาจประเมินค่ามาสู่โลก ทำให้ "วัคซีน" กลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการยับยั้งโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้
คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ จำกัด (Sinovac Life Sciences) ในกรุงปักกิ่ง ดำเนินการเพาะเชื้อไวรัสภายในวีโรเซลล์ (Vero cells) ก่อนคัดเลือกสายพันธุ์มีพิษและเหมาะสมสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีชื่อว่า ซีแซด (CZ)
ปัจจุบัน มีประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย โดยกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของจีนประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่
1. การเพาะเชื้อไวรัส
2. การทำให้เชื้อตาย
3. การทำให้บริสุทธิ์
4. การกำหนดสูตรผลิตวัคซีน
5. การบรรจุวัคซีนลงภาชนะ
และ 6. การนำใส่หีบห่อ
ขั้นตอนแรกคือ การเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์จะฉีดไวรัสลงถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบสุญญากาศที่เต็มไปด้วยวีโรเซลล์ ซึ่งได้จากการสกัดเซลล์ไตของลิงเขียวแอฟริกัน โดยวีโรเซลล์ที่เป็นเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดต่อเนื่องสามารถเพิ่มจำนวนผ่านวงจรการแบ่งตัวหลายครั้งและไม่แปรสภาพเป็นเซลล์ชำรุด (senescent) ขณะเชื้อไวรัสโคโรนาที่อยู่ภายในเซลล์ดังกล่าวเพิ่มจำนวนตัวเองอย่างรวดเร็ว
ต่อมา เชื้อไวรัสจะถูกส่งผ่านหลอดสุญญากาศไปยังถังปฏิกรณ์ชีวภาพอีกถังหนึ่ง และเข้าสู่กระบวนการยับยั้งการทำงานของไวรัส ซึ่งส่งผลให้เชื้อไวรัสสูญเสียความสามารถก่อโรคหรือเพิ่มจำนวนในอีกหลายชั่วโมงถัดมา กลายสภาพเป็นกลุ่มเชื้อไวรัสชนิดเชื้อตายที่จะถูกนำไปยังจุดทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีการกำจัดสารยับยั้งและสิ่งเจือปนอื่นๆ ให้คงเหลือเพียงสารละลายวัคซีน
จากนั้น สารละลายวัคซีนจะถูกนำไปผสมกับสารเสริมฤทธิ์และตัวเจือจางในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยส่วนผสมที่ได้มีชื่อว่าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อตรวจสอบต่อไปก่อนจะถูกบรรจุลงขวดแก้วขนาดเล็กหรือกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปในสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยผู้ผลิตจะทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อรับประกันว่าวัคซีนเหมาะสมสำหรับใช้งาน ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะถูกติดป้ายชื่อและหมายเลขก่อนบรรจุลงกล่องพร้อมคู่มือผู้ใช้งาน
วัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายใช้เวลาผลิตนาน 48 วัน ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์จนถึงการนำใส่หีบห่อ โดยวัคซีนต้องถูกจัดเก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส จึงเป็นที่มาของการนำยานพาหนะควบคุมอุณหภูมิมาใช้จัดส่งวัคซีนไปยังพื้นที่หลายส่วนทั่วโลก
สำหรับวัคซีนซิโนแวคล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส มีกำหนดมาถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) เที่ยวบินที่ TG675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันพฤหัสบดี่ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 06.50 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.05 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถฉีดให้ประชาชนในประเทศไทยได้แล้ว
---------------
ที่มาเนื้อหาและภาพ: ซินหัวไทย