‘สายใยไทยปาทาน’ เชื่อมสัมพันธ์ปากีสถาน

‘สายใยไทยปาทาน’ เชื่อมสัมพันธ์ปากีสถาน

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะดีหรือไม่ดีปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเป็นหลัก แต่สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนก็มีส่วนช่วยอย่างมาก

สำหรับไทยและปากีสถานที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 70 ปีในปีนี้มีคนไทยเชื้อสายปากีสถานที่เรียกว่า “ไทยปาทาน” ทำหน้าที่ตัวช่วยที่ดีมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือ “อนุมัติ อาหมัด” สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลต้นแบบด้านการบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ของปากีสถาน ได้รับรางวัล Tamgha-i-Quaid-i-Azam จากประธานาธิบดี 

อะศิม อิฟติคัร อะห์มัด เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน กล่าวว่า เมื่อวันเอกราชปากีสถาน 14 ส.ค. 2563 ประธานาธิบดีอารีฟ อัลวี ได้ประกาศรายชื่อชาวปากีสถานและชาวต่างชาติ 184 คนที่มีความสามารถหลากหลายสาขาและทำประโยชน์ให้กับประเทศ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติที่ทำเนียบประธานาธิบดี ณ กรุงอิสลามาบัด ในวันชาติปากีสถาน 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอนุมัติ อาหมัด สมาชิกวุฒิสภาของไทยได้รับรางวัล Tamgha-i-Quaid-i-Azam  แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางไปต่างประเทศยังมีข้อจำกัดมากมาย สถานทูตปากีสถานจึงจัดพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่กรุงเทพฯ แทน 

"Tamgha-i-Quaid-i-Azam (ตัมกา อี ไกดีอาซึม) หมายถึง เหรียญ Quaid-i-Azam แปลว่า The Great Leader ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เป็นคำที่พวกเราเรียกโมฮัมหมัด อาลี จินนาห์  ผู้ก่อตั้งประเทศ   เหรียญนี้มอบให้ชาวต่างชาติผู้ทำประโยชน์แก่ปากีสถาน คุณอนุมัติเป็น ส.ว.ชื่อดัง ทำงานสังคมอย่างแข็งขัน  เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำงานช่วยเหลือสังคมหลายอย่าง พ่อแม่ของท่านมาจากประเทศปากีสถาน ครอบครัวยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพี่น้องที่โน่น ในฐานะ ส.ว.คุณอนุมัติทำหลายอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว มรดกพุทธศาสนา ทั้งยังทำงานสาธารณะประโยชน์ เช่น ช่วยระดมทุนบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติในปากีสถานมานานหลายปีแล้วครับ"  ทูตอะศิมเล่าถึงความเป็นมาของรางวัลอันทรงเกียรติ

ทูตอะศิมยังกล่าวถึงชุมชนชาวไทยเชื้อสายปากีสถานหรือไทยปาทานที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ใช้ชีวิตผสมผสานกับสังคมไทยได้อย่างกลมกลืนไม่มีปัญหาแบ่งแยกชาวพุทธ มุสลิม และมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยอย่างมาก ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ทั่วประเทศไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร เห็นได้จากมีการสร้างมัสยิดปากีสถานที่มีมากกว่า 25 แห่งทั่วประเทศ 

ด้านอนุมัติส่วนหนึ่งของชาวไทยปาทาน เล่าถึงสายใยสองประเทศว่า ครอบครัวของตนเป็นเพียงครอบครัวเดียวที่ไม่ได้อยู่ในปากีสถาน ญาติคนอื่นๆ อยู่ที่โน่นทั้งหมด การได้รับรางวัลเกียรติยศนี้อย่างน้อยที่สุดก็เปรียบเหมือนโซ่ที่คล้องความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถานให้แน่นแฟ้นขึ้น 

"ในสายตาคนทั่วไปเมื่อพูดถึงปากีสถานเขาจะมองอีกภาพหนึ่ง แต่เมื่อเราได้พูดคุยทำให้หลายคนเปลี่ยนความคิด อยากจะไปปากีสถานให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ที่นี่นอกจากเรามีความสัมพันธ์ทางการทูตการค้ากันแล้ว สิ่งที่สำคัญกับประเทศไทยมากคือปากีสถานมีหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ประเทศเขาเก็บไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังเป็นประเทศที่ธรรมชาติงดงามแบบดิบๆ เหมือนยังไม่ผ่านการศัลยกรรม มีฤดูหนาว มีหิมะ ธารน้ำสีมรกต ทะเล ภูเขา อารยธรรม ศาสนา หลายบรรยากาศในประเทศเดียว มีเสน่ห์มาก"  สิ่งหนึ่งที่อนุมัติประทับใจมากจากการไปเยือนครั้งล่าสุดเมื่อสองปีก่อน เขาได้เห็นชาวซิกข์จากทั่วโลกหลั่งไหลมาปากีสถานเพื่อเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาเป็นครั้งแรกในวาระฉลองครบรอบ 550 ปีชาตกาลท่านคุรุนานัก ถือเป็นความใจกว้างของผู้นำประเทศ สะท้อนว่าปากีสถานเป็นประเทศใจกว้างไม่ได้กีดกันเรื่องการนับถือศาสนา 

นั่่นคือมุมมองจากผู้ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ Tamgha-i-Quaid-i-Azam ซึ่งก่อนจากกันทูตอะศิมยังย้ำถึงเกียรติยศที่ ส.ว.ไทยได้รับ 

"รางวัลนี้มีมานานแล้วหลังจากสถาปนาประเทศปากีสถาน และมีหลากหลายสาขา คุณอนุมัติเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Tamgha-i-Quaid-i-Azam  ซึ่งผมคิดว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชนชาวไทยถึงจุดยืนของปากีสถานและมิตรภาพระหว่างกันได้" 

และในปีพิเศษนี้ทูตเผยว่า มีแผนงานเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ปากีสถานหลายอย่างทั้งในด้านการเมืองและด้านวัฒนธรรม  ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยจะไปเยือนปากีสถานและร่วมประชุมด้านเศรษฐกิจ ส่วนด้านวัฒนธรรมมีหลายงานที่วางแผนไว้โดยต้องพิจารณาสถานการณ์โควิด แต่ที่ได้ข้อสรุปกับกระทรวงวัฒนธรรมของไทยและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้วคือ จัดนิทรรศการคันธาระเป็นงานใหญ่นำศิลปวัตถุทางพุทธศาสนามาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค. รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ อาทิ งานแสดงทางวัฒนธรรม แฟชั่นโชว์ อาหาร ศิลปะ และไทยก็จะไปจัดกิจกรรมในปากีสถานด้วย นอกจากนี้จะมีการออกแสตมป์ชุดพิเศษวาระเฉลิมฉลอง 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต เหมือนอย่างที่เคยทำเมื่อคราวครบรอบ 60 ปี