‘นายกฯนิวซีแลนด์’แนะศึกษาอัลกอริธึม‘สู้ความเกลียดชัง’บนโซเชียล

‘นายกฯนิวซีแลนด์’แนะศึกษาอัลกอริธึม‘สู้ความเกลียดชัง’บนโซเชียล

นายกฯ นิวซีแลนด์แนะผู้นำโลก-บริษัทเทค ที่พยายามขจัดเนื้อหารุนแรงบนโลกออนไลน์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับอัลกอริธึมที่ขับเคลื่อนเนื้อหาโซเชียลมีเดีย

นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ กล่าวในการประชุมผู้นำซึ่งจัดแบบเสมือนจริงในโอกาสครบ 2 ปี โครงการ “ไครส์ตเชิร์ชคอลล์” เพื่อยุติความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ เรียกร้องให้ผู้นำโลกและบริษัทเทคโนโลยีมุ่งเน้นทำความเข้าใจกับอัลกอริธึมของโซเชียลมีเดีย

“การมีอยู่ของระบบอัลกอริธึมไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าถูกใช้ไปอย่างมีจริยธรรมหรือไม่ นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่ชุมชนออนไลน์จะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการขยายเครือข่าย” นายกฯ นิวซีแลนด์กล่าวและว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ล้วนแสดงความต้องการบนเวทีว่าจะใช้อัลกอริธึมเข้าแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ แต่เธอไม่ได้ให้รายละเอียดว่า บริษัทเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงการใช้อัลกอริธีมที่ขับเคลื่อนเนื้อหาอันตรายจนนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร

โครงการ “ไครส์ตเชิร์ชคอลล์” ก่อตั้งขึ้นโดยนายกฯ อาร์เดิร์น และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อปี 2562 หลังเกิดเหตุชายผู้เชิดชูอุดมการณ์สิทธิพิเศษของคนขาว ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คขณะกราดยิงในมัสยิดเมืองไครส์ตเชิร์ช 2 แห่ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 51 คน

หลังจากนั้นองค์การระหว่างประเทศ บริษัทเทคโนโลยี และนานาชาติกว่า 50 รายพากันสนับสนุนโครงการนี้ รวมถึงบริษัทดังอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์

ปีนี้เป็นปีแรกที่สหรัฐเปลี่ยนนโยบายมาร่วมโครงการด้วย หลังจากเมื่อสองปีก่อนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ยอมเข้าร่วม อ้างว่าห่วงเรื่องเสรีภาพในการพูด ส่วนผู้นำที่เข้าร่วมประชุมนอกจากนายกฯ อาร์เดิร์นและประธานาธิบดีมาครงแล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษด้วย

ด้านประชาคมอินเทอร์เน็ตโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (จีไอเอฟซีที) เอ็นจีโอก่อตั้งโดยเฟซบุ๊ค ไมโครซอฟท์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ ที่ร่วมในโครงการไครส์ตเชิร์ชคอลล์เผยว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมีความก้าวหน้าไปมาก ตั้งแต่ปี 2562 องค์กรรับมือกว่า 140 เหตุการณ์ที่บริษัทสมาชิกแชร์ข้อมูลมาให้ เพื่อทำความเข้าใจหากการโจมตีนั้นเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์