เผยผลศึกษาครั้งแรก วัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' สู้โควิดสูงกว่า 70%
วารสารการแพทย์อเมริกัน เผยแพร่ ผลวิจัยวัคซีนซิโนฟาร์มครั้งแรก มีประสิทธิภาพสูงสู้โควิดกว่า 70%
วารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association) ตีพิมพ์ผลงานวิจัย ระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม จากประเทศจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองวัคซีนของจีนปรากฏอยู่ในบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ซิโนฟาร์ม ผู้ผลิตวัคซีนของจีน เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า บริษัทได้เผยแพร่รายงานการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ครั้งแรกของโลกเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในรายงานแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 เชื้อตาย จำนวน 2 ชนิด ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิทยาไวรัสอู่ฮั่น และสถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง มีประสิทธิภาพ 72.8% และ 78.1% ตามลำดับ
การทดลองยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพวัคซีนและการป้องกันในระยะยาว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทดลอง 40,382 คน เพื่อรับวัคซีนสองโดส อย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรือการควบคุมอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เท่านั้น โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง จะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้
รายงานสรุปได้ว่า วัคซีนเชื้อตาย 2 ชนิดนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการอย่างมีนัยสำคัญ และอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง จะเกิดขึ้นได้ยาก
วัคซีนที่พัฒนาโดยซิโนฟาร์มของปักกิ่ง ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากกว่า 70 ประเทศภูมิภาคและองค์กรต่างๆ
ส่วนวัคซีนซิโนแวก ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดตาย ขณะนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของ WHO สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยก่อนหน้านี้ บราซิลได้เผยแพร่ประสิทธิภาพวัคซีนของซิโนแวคสูงถึง 50.7% และพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ P1 และ P2 ที่แพร่กระจายในบราซิล
ทั้งนี้ วัคซีนที่จีนผลิต ทั้งวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวก ไบโอเทคเป็นวัคซีนหลักที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเร่งระดมฉีดให้กับประชาชน เช่น ฮังการี เซอร์เบีย เซเชลส์ เปรู เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 จากวัคซีนดังกล่าวได้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด หลังผู้ผลิตวัคซีนทั้งสองรายถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนมากเพียงพอ
การขาดความโปร่งใสยิ่งทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 ของวัคซีนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นในประเทศเซเชลส์และชิลี ซึ่งใช้วัคซีนจากจีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนจำนวนมาก