'ฮุนได-ค่ายรถจีน'ท้าชนบ.ญี่ปุ่น-ยึดหัวหาดตลาดรถอาเซียน

'ฮุนได-ค่ายรถจีน'ท้าชนบ.ญี่ปุ่น-ยึดหัวหาดตลาดรถอาเซียน

'ฮุนได-ค่ายรถจีน'ท้าชนบ.ญี่ปุ่น-ยึดหัวหาดตลาดรถอาเซียน ขณะที่ 90% ของรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้มาจากค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากน้ำมันเบนซิน

เมื่อตอนที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ ค่ายรถสัญชาติจีนเปิดตัวรถเอสยูวีไฮบริด “New HAVAL H6 ”อย่างเป็นทางการที่ประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมสโลแกน “It's time to change” นั้นดูเหมือนจะเป็นการประกาศท้าชนบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นที่ยึดหัวหาดตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานจนเกือบจะเรียกได้ว่า“ผูกขาด”นี้ก็ว่าได้

เกรท วอลล์ อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตรถสัญชาติจีนและเกาหลีใต้ที่พยายามผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันในประเทศไทยและอินโดนีเซียซึ่งทำให้คู่แข่งอย่างค่ายรถญี่ปุ่นถูกทิ้งอยู่ข้างหลังเพราะยังลังเลที่จะเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ประมาณ 90% ของรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้มาจากค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากน้ำมันเบนซิน เกรท วอลล์ จึงพยายาม ทำลายฐานที่มั่นในตลาดรถยนต์ของค่ายรถญี่ปุ่นด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 9 รุ่นในระยะ3ปีข้างหน้า ที่รวมถึงบางรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคัน

เกรท วอลล์ ลงนามเซ็นสัญญา ซื้อโรงงานผลิตที่จังหวัดระยองจากบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งตั้งเป้าปั้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน และเริ่มเดินสายการผลิตช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ด้วยกำลังผลิต 80,000 คัน นอกจากนี้ เกรทวอลล์ยังลงทุนมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับโฉมโรงงานผลิตที่นี่เป็นโรงงานอัจฉริยะที่มีสายการผลิตควบคุมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ทั้งหมด โดยเริ่มผลิตรถไฮบริดในเดือนมิ.ย.และเริ่มผลิตรถไฟฟ้าทั้งคันภายในปี 2566

การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถของเกรท วอลล์ครั้งนี้ บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลนาน 8 ปีในฐานะที่ผลิตรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ผลิตรถในประเทศผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 30%ของปริมาณรถทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ ภายในปี 2573

“เราจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมก้าวหน้า ”จาง เจียหมิง ประธานเกรท วอลล์ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน กล่าว

เมื่อวันพุธ(21ก.ค.) “แจ็ค เว่ย”ประธานเกรท วอลล์ กล่าวว่า ในปี2568 บริษัทวางแผนที่จะบรรลุเป้าหมายยอดขายทั่วโลกที่ 4 ล้านคันในปีนั้น และ 80% ของยอดขายจะมาจากรถยนต์พลังงานใหม่ พร้อมตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินงานมากกว่า 6 แสนล้านหยวน

นอกจากนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะเพิ่มงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)เพิ่มกว่าแสนล้านหยวน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความชาญฉลาดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังตั้งเป้าให้มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกจำนวนกว่า 30,000 คน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีความล่าช้าอย่างมากในการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า โดยไม่มีผู้ผลผลิตท้องถิ่นรายใดผลิตรถไฟฟ้าออกมาจำหน่ายและเมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรถไฟฟ้าทั่วประเทศมีแค่เพียง 1,400 คันจากรถนำเข้าประมาณ 60% ของบริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ ที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และบริษัทมีแผนที่จะผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์

ทุกวันนี้ บรรดาค่ายรถญี่ปุ่นเปิดตัวรถไฟฟ้าอย่างจำกัดและนำเข้าไม่กี่รุ่น เช่น รถรุ่นลีฟของนิสสัน มอเตอร์ รถรุ่นเล็กซัส รถแบรนด์หรูของค่ายโตโยต้า ขณะที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ เริ่มผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2566 แต่รถไฮบริดยังคงได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับจุดชาร์จพลังงานยังขาดแคลน

“ผู้เล่นจากจีนจะเข้ามาเติมช่องว่างในตลาดรถยนต์อาเซียนและจะได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเพราะรถไฟฟ้าจากจีนราคาถูกกว่า”ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยโนมูระ กล่าว

เบื้องต้น เกรท วอลล์จะนำเข้ารถไฟฟ้าแบบคอมแพ็ครุ่นโอรา (Ora) ซึ่งจำหน่ายในจีนราคาไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์หลังจากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนแล้ว และเมื่อมีความต้องการรถรุ่นนี้เพิ่มขึ้น บริษัทจะหันไปผลิตรถรุ่นนี้ในไทยแทน

ส่วนในอินโดนีเซีย ที่ถือเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่อีกแห่งของอาเซียน ฮุนได มอเตอร์ ค่ายรถยนต์เกาหลี เตรียมเปลี่ยนโรงงานผลิตมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ที่ผลิตรถใช้พลังงานแบบเก่าเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเร็วที่สุดไม่เกินปี 2565

ฮุนได ตัดสินใจเริ่มโครงการผลิตรถไฟฟ้าเมื่อเดือนพ.ย.ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ลงนามข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ สามารถนำเข้าชิ้นส่วนรถเข้าไปในอินโดนีเซียโดยไม่เสียภาษี ช่วยให้แข่งขันกับบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หอการค้าญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ระบุว่า ไทยยังคงพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล หมายความว่ารถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหามลภาวะที่เกิดจากการปล่อยไอเสียได้ และอินโดนีเซียก็มีลักษณะปัญหาคล้ายกับไทย

แต่รายงานวิเคราะห์จากเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุหากบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นยังนิ่งนองใจ ไม่เร่งลงทุนเพิ่มด้านรถไฟฟ้าให้เท่าเทียมกับค่ายรถจีนและค่ายรถเกาหลีใต้ ก็มีโอกาสสูงมากที่ค่ายรถญี่ปุ่นจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำคัญในตลาดนี้ไป