เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

การฉีดวัคซีนไขว้เข็ม 1 และเข็ม 2 ต่างยี่ห้อกันถูกพูดถึงมานานแล้วในช่วงแรกๆ ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเกิดปัญหาวัคซีนไม่พอ แนวคิดนี้เป็นจริงเมื่อพบอาการลิ่มเลือดอุดตันถึงขั้นเสียชีวิตในยุโรปหลังจากฉีดแอสตร้าเซนเนก้า แม้เกิดเหตุไม่กี่รายแต่ประเทศยุโรปต้องระงับใช้ไปในขณะนั้น เป็นผลให้เกิดสูตรฉีดวัคซีนเข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 ไฟเซอร์เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัย

เดือนก่อนเว็บไซต์ pharmaceutical-technology เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่าด้วยผลศึกษา การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์ ที่นอกจากแก้ปัญหาการลังเลไม่ยอมฉีด ไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย ปัญหาการผลิตและซัพพลายเชน ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคด้วย

อ่านข่าว-'โควิด 19 ติดเชื้อ' วันนี้ ชลบุรียอด 703 ราย เช็ค 8 คลัสเตอร์โรงงาน

บทวิเคราะห์ระบุว่า การวิจัยฉีดวัคซีนผสมทุกชิ้นยังอยู่ในขั้นต้น แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นโดยคณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อเดือน มิ.ย. พบว่า การผสมแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์สร้างภูมิคุ้มกันโควิดที่แข็งแกร่ง กระตุ้นแอนติบอดีสูงกว่าใช้แอสตร้าเซนเนก้าสองเข็ม

การวิจัยที่ชื่อว่า “เปรียบเทียบตารางการฉีดวัคซีนผสม” (คอม-คอฟ) พบด้วยว่า ลำดับการฉีดวัคซีนมีผลด้วยเช่นกัน การฉีดแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์สร้างภูมิคุ้มกันดีกว่า

ศ.แมทธิว สเนป หัวหน้าโครงการทดลอง ระบุ “การศึกษาของคอม-คอฟประเมินการผสมวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดและไฟเซอร์เพื่อดูว่าสามารถใช้ทดแทนกันได้ระดับใด ซึ่งอาจนำปรับไปใช้ได้ทั้งในสหราชอาณาจักรและและทั่วโลก ผลออกมาว่า ฉีดไขว้ห่างกัน 4 สัปดาห์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้า”

ถัดจากนั้นมีการทดลองในเกาหลีใต้พบว่า การฉีดวัคซีนผสมเข็มแรกแอสตร้าเซนเนก้า เข็มสองไฟเซอร์กระตุ้นระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์สูงกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มถึง 6 เท่า

การศึกษายังวิเคราะห์ถึงผลของการฉีดวัคซีนผสมต่อโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี รายงานว่าไม่มีกลุ่มใดที่ภูมิคุ้มกันลดลงเมื่อใช้กับสายพันธุ์แอลฟาพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร แต่ลดลง 2.5-6 เท่า เมื่อใช้กับสายพันธุ์เบตาพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ สายพันธุ์แกมมาพบครั้งแรกในบราซิล และสายพันธุ์เดลตาพบครั้งแรกในอินเดีย

การศึกษาในสเปนและเยอรมนีพบว่า การฉีดวัคซีนผสมสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็ม

ความปลอดภัยของการฉีดไขว้

วัคซีนที่ใช้ในการศึกษาเหล่านี้คือคอมิร์นาตีของไฟเซอร์และแว็กซ์เซฟเรียของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้กันกว้างขวางทั่วโลก พบว่าปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโควิด-19

การศึกษาคอม-คอฟของออกซ์ฟอร์ดพบเหตุการณ์รุนแรง 4 ครั้งในกลุ่มทดลองทุกกลุ่ม แต่ระบุว่า ไม่มีเหตุการณ์ใดเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีีน ข้อมูลความปลอดภัยได้รับการทบทวนจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัยอิสระอีกชุดหนึ่ง และแพทย์ในพื้นที่ทดลองก็เข้ามาดูแลเหตุการณ์ร้ายแรงทุกอย่างแบบเรียลไทม์

คณะนักวิจัยของคอม-คอฟระบุไว้ในการศึกษาก่อนหน้านั้นว่า คนที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ 30-40% มีไข้หลังฉีดเข็มที่ 2 เทียบกับคนที่ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้งสองเข็ม 10-20% มีไข้หลังฉีดเข็มที่ 2 เป็นผลจากระยะห่างระหว่างการฉีดลดลงเหลือ 4 สัปดาห์

ทั้งนี้ การวิจัยถึงความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ยังอยู่ในขั้นต้นและกำลังดำเนินต่อไป การศึกษาหลักๆ ชี้ว่า การฉีดผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพและค่อนข้างปลอดภัยในการทดลองที่ทำกับกลุ่มคนป่วยค่อนข้างน้อย ถ้าจะให้ผลชัดเจนต้องศึกษาจากประชากรกลุ่มใหญ่ขึ้น

การทดลองฉีดวัคซีนสูตรไขว้ไม่ได้มีแค่นี้ คอม-คอฟ1 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเน้นที่แอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์ ขณะที่คอม-คอฟ2 กำลังประเมินความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกันในการฉีดวัคซีนผสมระหว่างเข็มที่ 1 ไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้า กับเข็มที่ 2โมเดอร์นาหรือโนวาแวกซ์

นักวิจัยกล่าวว่า ยิ่งมีวัคซีนโควิด-19 พร้อมใช้มากขึ้นการศึกษาวัคซีนสูตรผสมก็อาจมีมากขึ้น ขณะนี้ก็มีการทดลองสูตรผสมทั่วโลก เช่น แอสตร้าเซนเนก้ากับสปุตนิกวีที่มอสโก การผสมโคโรนาแวคของซิโนแวคกับวัคซีนอื่นอีก 6 ตัวที่ฟิลิปปินส์